Special Report

เจาะตลาดสุขภาพผู้สูงอายุ โอกาสของสินค้าและบริการไทย

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 ซึ่งหมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก ที่ปัจจุบันประชากรสูงอายุของโลกกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่าจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 515.2 ล้านคน ในปี 2552 เป็น 702.9 ล้านคน ในปี 2562 และคาดว่าสัดส่วนของประชากรโลกที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 9.1 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2573 และร้อยละ 15.9 ในปี 2593 ผู้สูงอายุจึงเป็นผู้บริโภคกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัว อีกทั้งรายได้เฉลี่ยของผู้สูงอายุอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประชากรในช่วงอายุต่างๆ เพราะอยู่ในวัยที่มีทรัพย์สินเก็บสะสมไว้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา และส่วนใหญ่หมดภาระในการผ่อนบ้านหรือสินทรัพย์ต่างๆ แล้ว อีกทั้งหลายประเทศยังเก็บภาษีจากผู้สูงอายุในอัตราต่ำกว่าวัยอื่น หรือมีสวัสดิการต่างๆ ให้ผู้สูงอายุ อาทิ การมีส่วนลดหรือยกเว้นค่าโดยสาร ทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้เงินที่ได้มาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า ผู้สูงอายุจึงมีอำนาจในการใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้เฉลี่ยของผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 จากปี 2563 เป็นปีละ 21,811 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2583 เมื่อประกอบกับการที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกษียณจากงานแล้วจึงมีอิสระและสามารถใช้เวลาทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่ ผู้สูงอายุจึงนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคในอุดมคติของธุรกิจทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาดที่จะรุกตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้

(อ่านรายละเอียดในเอกสารแนบ)

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products