ข่าวเศรษฐกิจ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ สปป.ลาว มีมติกำหนดให้รัฐบาลยุติการพิจารณาโครงการเขื่อนใหม่ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อศึกษาทบทวนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว หลังจากเขื่อนดินโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกนั้น ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเข้มงวดมากขึ้นในการดำเนินงาน ซึ่งในส่วนของเขื่อนที่กำลังก่อสร้างปัจจุบันก็จะต้องดูว่ามีความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย- สปป.ลาว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 9,000 เมกะวัตต์ เป็นกรอบที่กำหนดว่าไทยจะพัฒนาหรือจะซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในปริมาณเท่าไหร่ แต่ไม่มีกำหนดว่าจะต้องซื้อทุกปีหรือจากทุกโรงไฟฟ้า ขณะที่ในระยะต่อไปทางรัฐบาลไทยเองก็ต้องมีการหารือกันว่าจะมีการลงนามพิจารณาซื้อไฟฟ้าจากฝั่ง สปป.ลาว นอกเหนือจากสัญญาเพิ่มเติมหรือไม่ ตามสถานการณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งทุกอย่างจะถูกกำหนดลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล
ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึง 30% ซึ่งในปัจจุบันคงไม่มีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่ก็ต้องดูความต้องการไฟฟ้าของประเทศควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต สปป.ลาว ยังให้ภาคเอกชนเข้าไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศต่อได้ ก็ต้องมีมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องการออกแบบ การก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน ความปลอดภัย หรือข้อบังคับต่าง ๆ ไม่ว่านักลงทุนประเทศไหนก็ต้องดำเนินตามกฎระเบียบของรัฐบาล สปป.ลาว และต้องเสนอวิธีการพัฒนาโครงการให้ต่อรัฐบาล สปป.ลาว หากไม่ได้มาตรฐานที่วางไว้ ก็อาจจะไม่สามารถลงทุนได้ (เว็บไซต์ไทยโพสต์, 9 ส.ค. 2561)