ข่าวเศรษฐกิจ
หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กดดันให้ชาติพันธมิตรหยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านขั้นสูงสุดหลังสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม 2561 ปิดปรับตัวขึ้น 3.6% ไปอยู่ที่ 70.53 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน เมื่อคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้มีแนวโน้มทำให้ปริมาณน้ำมันหายไปจากตลาดโลกราว 5 แสน - 1 ล้านบาร์เรล โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าการผลิตของอิหร่านจะลดลงราว 9 แสนบาร์เรล/วัน ในปี 2562 หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งจากปริมาณส่งออกทั้งหมดปัจจุบันของอิหร่านที่ 2.4 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ แม้ผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงจะเพิ่มการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ในความเป็นจริงก็อาจเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียง 6-8 แสนบาร์เรล/วันเท่านั้น เนื่องจากแต่ละประเทศมีข้อจำกัด สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ Bank of America คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในช่วงต้นปี 2562 ขณะที่ธนาคาร UBS มองว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณน้ำมันที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ (โพสต์ทูเดย์, 28 มิ.ย. 2561)