ข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้าเปิดเผยว่า ขณะนี้จำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกเหล็กเส้นขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 บาท เนื่องจากเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นและไทยต้องนำเข้าสัดส่วน 20-25% ที่ไทยต้องนำเข้าจากตลาดโลก เกิดภาวะขาดแคลนหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรา 232 ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก จนมีผลให้อุตสาหกรรมภายในหันไปใช้เศษเหล็กที่ผลิตได้ในประเทศ ปริมาณส่งออกเศษเหล็ก (Scrap) มาตลาดโลกจึงลดลง ทำให้ราคาเศษเหล็กขยับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 19.40-19.50 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 18 บาท ประกอบกับต้นทุนแท่งถ่านที่ใช้ในการหลอมเหล็ก (กราไฟต์อิเล็กโทรด) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ปรับราคาสูงขึ้น 7-8 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยต้องนำเข้ากราไฟต์ อิเล็กโทรดจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวของโลก แต่ปัจจุบันรัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อประเด็นการผลิตสินค้าจากโรงงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีการปิดโรงงานกราไฟต์อิเล็กโทรด ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดลดลง ส่งผลให้ราคากราไฟต์อิเล็กโทรดขณะนี้ปรับขึ้นไปอยู่ที่ตันละ 16,000-17,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากเดิมราคาเพียง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยระดับราคานี้ปรับลดลงจากช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดตันละ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเหล็กเตาอาร์ก (ประชาชาติธุรกิจ, 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2561)