ข่าวเศรษฐกิจ
การประกาศใช้มาตรา 232 แห่งกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ของประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐ (Nation Security) และนำมาซึ่งการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กในอัตรา 25% และสินค้าอะลูมิเนียม 10% จากทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยนั้น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยได้ประมาณการผลกระทบทางตรงของไทยว่าจะสูญเสียการส่งออกสินค้าเหล็กไปยังตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 10,479 ล้านบาท จากปริมาณเหล็กส่งออก 383,496 ตัน และจากข้อมูลการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของสถาบันเหล็กฯ บ่งชี้ว่า มีสินค้าเหล็ก 4 รายการที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมาก คือ
1) ท่อเหล็กเชื่อมมีตะเข็บ ปี 2560 ส่งออกไปสหรัฐฯ 108,838 ตัน ซึ่งอาจจะไม่มากหากเทียบกับปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากทั่วโลกของสหรัฐฯ แต่ปริมาณส่งออกท่อเหล็กของไทยกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่บริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท สหไทยสตีลไพพ์ โดยสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งส่งออกไปสหรัฐฯ จึงนับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
2) เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ปี 2560 มีการส่งออกไปสหรัฐฯ 90,429 ตัน โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Posco-TCS หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเหล็กเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนในไทย
3) เหล็กแผ่นรีดเย็น ปี 2560 ส่งออกไปสหรัฐฯ 85,445 ตัน บริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Starcore
4) ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ปี 2560 ส่งออกไปสหรัฐฯ 86,274 ตัน ผู้ส่งออกรายใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดโอกาสให้ขอยกเว้นการถูกใช้มาตรการเก็บภาษีได้ใน 2 กรณีคือ การขอยกเว้นเป็นรายสินค้า (Product Exclusions) และการขอ "ยกเว้น" เป็นรายประเทศ (Country Exclusions) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Department of Commerce หรือ DOC) ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการขอยกเว้นเป็นรายสินค้าออกมาแล้วด้วยการกำหนดให้ 1) บุคคลหรือองค์กรที่อยู่ในสหรัฐฯ ที่ใช้เหล็กหรืออะลูมิเนียมในธุรกิจของตน หรือ 2) ผู้จัดหา เหล็ก/อะลูมิเนียมให้กับผู้ใช้ เป็นผู้มีสิทธิ์ในการยื่นขอยกเว้นเป็นรายสินค้า โดยการขอยกเว้นเป็นรายสินค้า (Product Exclusions) ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ปรากฏบริษัทผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกในกลุ่มท่อเหล็กมีตะเข็บหรือท่อเชื่อมตะเข็บได้ดำเนินการติดต่อกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยื่นขอยกเว้นไปแล้วจากเหตุผล 2 ประการด้วยกัน คือ ท่อเหล็กเป็นสินค้าที่ไม่มีการผลิตหรือผลิตได้ไม่เพียงพอในสหรัฐฯ และคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ ไม่ดีเท่ากับสินค้าที่นำเข้าได้ ส่วนการเปิดให้ขอยกเว้นเป็นรายประเทศ (Country Exclusions) นั้น ทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะเป็นผู้พิจารณาออกหลักเกณฑ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า (ประชาชาติธุรกิจ, 26-28 มี.ค. 2561)