ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเปิดเผยว่าขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติเรื่องระเบียบ 4 ฉบับ ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะสัญญา WTO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือแต่กระบวนการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเข้า ครม. และกฤษฎีกาตรวจร่างระเบียบ เมื่อ ครม. เห็นชอบก็จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะใช้ได้ ทั้งนี้ คาดว่าระเบียบปฏิบัติคงออกไม่ทันวันที่ 1 ธันวาคม 2560 แต่น่าจะใช้เวลาอีกราว 2 เดือน ทำให้ราคาน้ำตาลทรายยังไม่สามารถลอยตัวได้ จนกว่าระเบียบปฏิบัติจะเรียบร้อย ด้านผู้ใช้น้ำตาลทรายมีความกังวล 4 ด้าน หลังราคาน้ำตาลทรายลอยตัว คือ 1 ด้านปริมาณ เพราะโดยทั่วไปผู้ผลิตกับคู่ค้าจะตกลงสัญญากันตั้งแต่ตอนต้นปีว่าจะส่งของให้ลูกค้าในปริมาณเท่าใดในช่วงเวลาตลอดทั้งปีนั้นๆ หากเกิดมีการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศขึ้นมาก็จะทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด และอาจเป็นเหตุให้คู่ค้าปรับเงินกับผู้ผลิตหรือนำสินค้าออกจากชั้นวางสินค้าได้ 2. หากราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้น-ลงแรงๆ จะส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ผลิต เนื่องจากได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้าไว้ก่อนแล้วตลอดทั้งปีด้วยราคาสินค้าที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า 3. สูตรคำนวณราคาน้ำตาลทรายที่อยากให้เป็นสูตรตายตัว เพื่อจะได้สะดวกในการคิดต้นทุน และประมาณการได้ง่าย 4.คุณภาพน้ำตาลทราย ผู้ผลิตมีความกังวลว่าหากราคาน้ำตาลทรายโลกต่ำจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทมิตรผลให้ความเห็นว่า การที่ไทยมีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายในประเทศสูงถึง 10-11 ล้านตัน แต่มีการบริโภคในประเทศเพียง 2.5 ล้านตัน จะไม่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศอย่างที่ผู้ใช้น้ำตาลทรายกังวล อีกทั้งยังมีข้อตกลงให้ทุกโรงงานน้ำตาลทรายมีการตั้งสำรองน้ำตาลทรายไว้ 10% ของปริมาณน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศเพื่อรองรับให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ (ฐานเศรษฐกิจ, 30 พ.ย. -2 ธ.ค. 2560)