ข่าวเศรษฐกิจ
กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ยื่นหนังสือต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยมีเนื้อหา 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนี้
1) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุทาน (Supply Chain) และการจ้างงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันรถยนต์ 1 คัน ใช้ชิ้นส่วนรถยนต์เป็นส่วนประกอบนับหมื่นชิ้น และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกว่า 2,500 ราย ดังนั้น หากเกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญเพียงไม่กี่ชิ้น คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อาทิ ระบบ Power Train, หม้อน้ำ และเบรก อาจต้องหายไปจาก Supply Chain
2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยหันมาเน้นส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แทนรถปิกอัพและรถยนต์ Eco Car อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลุ่มเดิมที่เคยได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว
3) สถานีชาร์จกระแสไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันพบว่าสถานีชาร์จกระแสไฟฟ้ายังไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณาถึงประเด็นความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นและต้นทุนค่าไฟฟ้าร่วมด้วย
4) การหันมาสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก อาทิ แก๊สโซฮอล์และ ไบโอดีเซลซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มดังกล่าวเป็นวัตถุดิบการผลิต
5) การกำจัดแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่เป็นสารพิษอุตสาหกรรมที่จะต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย
พร้อมกันนี้ บจก. ไทยซัมมิท ออโต พาร์ท อินดัสตรี (ไทยซัมมิทกรุ๊ป) คาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในปี 2560 มีแนวโน้มทรงตัว หรือขยายตัวไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวไปอีกอย่างน้อย 2 ปี อีกทั้งค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังไม่มีแผนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด (ฐานเศรษฐกิจ, 22-24 ก.ย. 2559)