ข่าวเศรษฐกิจ
ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ซึ่งเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะใช้ในการดูแลสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม หรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั้งพืชและสัตว์ (แต่ไม่รวมถึงการทดลองสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว) และเมื่อร่างฯ ผ่าน ครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากร่างฯ ดังกล่าวผ่าน สนช. จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 ปีนั้น ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านจากทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่าร่างฯ ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับนโยบาย GMOs ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ซึ่งร่างฯ ฉบับนี้จะจำกัดตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยให้แคบลง ขณะเดียวกันยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงอย่างสหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเกษตรกรในทุกมิติ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าพืช GMOs จะกระทบต่อการส่งออกและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เช่นเดียวกับชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ที่เกรงว่าการเปิดช่องให้ปลูกพืช GMOs จะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนซึ่งจะกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งจะต้องเผชิญปัญหาการผูกขาดพืช GMOs จากบริษัทเกษตรรายใหญ่ (โพสต์ทูเดย์, 25-26 พ.ย. 2558)