ข่าวเศรษฐกิจ
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงงานเหล็กมีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ราว 10% ณ ราคาค่าไฟฟ้า 2.80 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอขอปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft รอบใหม่ ขึ้นอีก 25-37 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 และหากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาแล้วอนุมัติให้ปรับขึ้นเพียงครึ่งเดียว คิดเป็นค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 14 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้น 5% ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ผลิตเหล็ก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายเหล็กได้ เนื่องจากตลาดเหล็กของไทยอยู่ในภาวะซบเซาและไม่ได้อานิสงส์จากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา เพราะคนส่วนใหญ่นิยมซ่อมแซมบ้านแทนการก่อสร้างใหม่ ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล็กแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่นำเศษเหล็กมาหลอมใหม่ จะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก และ (2) กลุ่มที่ใช้เหล็กสำเร็จรูปมาผลิต ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า โดยต้นทุนค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 2% (ประชาชาติธุรกิจ, 15-18 มี.ค. 2555)