ข่าวเศรษฐกิจ
ตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ในเบื้องต้นได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาจากตัวอย่างยา 6 รายการที่มีการใช้มากที่สุด คือ ยาแก้ปวดลดไข้ (Tylenal) ยาลดความดัน (Anapril) ยาลดไขมัน (Bestatin) ยารักษาลมชัก (Depakine) ยาฆ่าเชื้อ (Ciprobay) และยามะเร็ง (Herceptin) พบว่า การกำหนดราคาขายยาใน 6 กลุ่มดังกล่าวของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับต้นทุน เช่น โรงพยาบาลเอกชนแบบกลุ่ม (ที่มีบริษัทในเครือ) ประเภทบริษัทจำกัด มีต้นทุนต่ำ แต่กำหนดราคาขายสูง ทำให้ธุรกิจมีอัตรากำไรส่วนเกินสูง ขณะที่โรงพยาบาลแบบเดี่ยว ประเภทบริษัทจำกัดและมูลนิธิ ส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายค่อนข้างต่ำ แต่มีราคาซื้อค่อนข้างสูง จึงมีอัตรากำไรส่วนเกินต่ำกว่าธุรกิจโรงพยาบาลแบบกลุ่ม นอกจากนี้ พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายสูง ขณะที่ระดับของมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) และขนาดจำนวนเตียง ไม่มีความสัมพันธ์กับการกำหนดราคาแต่อย่างใด ทั้งนี้ กรมฯ จะนำตัวอย่างผลการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ (www.dit.go.th) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งจำหน่ายยาในราคาเท่าไร และเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย คาดว่าการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาทั้งหมด รวมถึงเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล จะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือประมาณต้นปี 2563 หลังจากที่เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 (ประชาชาติธุรกิจ, 28 พ.ย.- 1 ธ.ค. 2562 และ https://news.thaipbs.or.th/content/285697, 31 ต.ค. 2562)