ข่าวเศรษฐกิจ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 5 แห่งที่ป้อนน้ำดิบให้กับ EEC มีปริมาณสะสมไม่ถึง 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับที่วิกฤต ซึ่งที่ผ่านมา สนทช. ได้ผันน้ำจากแหล่งอื่นมาช่วยเหลือ รวมถึงรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำร่วมกันประหยัดน้ำ คาดว่าจะมีน้ำสำรองจนถึงเดือนเมษายน 2563 สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 สนทช. ได้เตรียมแผนรับมือหากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ โดยจะเสนอมาตรการรับซื้อน้ำจากบ่อดินของภาคเอกชนต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ในวันที่ 23 มกราคม 2563 รวมถึงจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการรีไซเคิลน้ำทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ หากเกิดภัยแล้งในระดับรุนแรงที่สุด สนทช. ได้เตรียมศึกษาการนำน้ำทะเลมากลั่นเป็นน้ำจืด ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ศักยภาพสำหรับพัฒนาระบบผลิตน้ำจืด 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเมืองพัทยา สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ EEC ปี 2563-2580 วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ปีละ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ฐานเศรษฐกิจ, 23-25 ม.ค. 2563)