ข่าวเศรษฐกิจ
บริษัท ธนวรรณ เครื่องเย็น จำกัด เปิดเผยว่าการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ยอดจำหน่ายตู้แช่ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ลดลง แต่พบว่ายอดจำหน่ายตู้แช่ที่ใช้ในบ้านเพิ่มขึ้น 30% เพราะฐานลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคมีขนาดใหญ่ขึ้น หลังผู้บริโภคต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงลดความถี่ในการซื้อสินค้าเหลือสัปดาห์ละครั้ง และซื้อสินค้าคราวละมากๆ มาเก็บไว้ในตู้แช่ ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าตู้แช่ยาและวัคซีน (รักษาอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถแช่วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ซิโนแวค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) จะเป็น Product Hero ของบริษัทฯ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2564 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายตู้แช่ยาและวัคซีนกว่า 40-50 เครื่อง เพิ่มขึ้น 400% (y-o-y) ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมตู้แช่ยาและวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าราว 400-500 ล้านบาท ยังไม่รุนแรงมาก เพราะปัจจุบันมีผู้เล่นที่มีศักยภาพในการผลิตเพียง 2-3 รายเท่านั้น ขณะที่ตู้แช่วัคซีน COVID-19 ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ยังไม่มีผู้ผลิตตู้แช่ในไทยรายใดผลิตได้ เนื่องจากไทยยังไม่สามารถผลิตทำน้ำยาทำความเย็นที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงถึงระดับดังกล่าวได้ นอกจากนี้ แช่ยาและวัคซีนยังมีโอกาสเติบโตตามโรงพยาบาลไทยที่ขยายสาขาไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา และกัมพูชา (กรุงเทพธุรกิจ, 15 ก.พ. 2564)