ข่าวเศรษฐกิจ
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย 6 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกไทยในระยะถัดไป ดังนี้
- การระบาด COVID-19 ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว การที่แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมติดเชื้อ COVID-19 อาจจะทำให้การผลิตหยุดชะงักหรือผลิตได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการส่งมอบสินค้าและการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้ 10-12% ตามที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงจากมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขภายในโรงงาน (Bubble & Seal) และเครื่องมือชุดตรวจโรค (ATK)
- ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ค่าระวางเรือยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นเกือบทุกเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) และอื่นๆ ซึ่งผู้นำเข้า/ส่งออก ต้องชำระเพิ่มเนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนระวางและตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาการบริหารจัดการตู้สินค้าภายในท่าเทียบเรือ และปัญหาการล่าช้าของเรือทำให้ตู้สินค้าตึงตัว อาทิ การปิด Meishan Island Container Terminal ของท่าเรือ Ningbo ส่งผลให้สายเรือทำ Blank Sailing และการเปลี่ยนแปลงตารางเรือไปถ่ายลำที่ท่าเรืออื่นแทน ทำให้ท่าเรือใกล้เคียงเกิดความแออัดเพิ่มขึ้นตามมา
- ต่างประเทศยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 อาทิ จีนเพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจ COVID-19 กับสินค้าที่นำเข้า ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการหมุนเวียนตู้สินค้า และการส่งออกในบางรายสินค้า
- การขาดแคลนแรงงาน ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา เนื่องจากมาตรการปิดประเทศ ประกอบกับปัจจุบันการจัดสรรวัคซีน COVID-19 ในประเทศยังไม่เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต จึงยิ่งซ้ำเดิมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและกระทบต่อการผลิตเพื่อการส่งออก
- ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
- ปริมาณปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ ปัญหาการขาดแคลนชิป เหล็ก และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งอาจมีแนวโน้มขาดแคลนต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2564
(www.bangkokbiznews.com, 7 ก.ย. 2564)