ข่าวเศรษฐกิจ
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารลดลง 74,691 คน จากปี 2562 เหลือเพียง 639,606 คน ในปี 2563 ปัจจุบันเมื่อคำสั่งซื้อจากลูกค้าเริ่มกลับมา ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น จึงเห็นด้วยกับการเปิดนำเข้าแรงงานผ่าน MOU แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปกติราว 1 หมื่นบาท เป็น 2 หมื่นบาท ซึ่งทำให้ระยะเวลาคุ้มทุนของการนำเข้าแรงงานยาวขึ้นเป็น 2 ปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวมักเปลี่ยนงานบ่อย อีกทั้งต้นทุนการนำเข้าแรงงานส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ จึงพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งหันไปใช้ระบบอัตโนมัติแทนเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน ดังนั้น หากรัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายบางด้านลง เช่น ค่าประกัน หรือค่าธรรมเนียมนำเข้า จะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการได้ ขณะที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเห็นว่า การนำเข้าแรงงานแบบ MOU เพียงอย่างเดียวอาจมีปัญหาค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลานาน จึงเสนอให้นำ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว 2560 มาตรา 14 มาใช้ โดยเปิดศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) บริเวณด่านชายแดน 4-5 แห่ง เพื่อคัดกรองแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องมีนายหน้า และไม่มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (ประชาชาติธุรกิจ, 15-17 พ.ย. 2564)