Advisory Notes
ประเด็นสำคัญ
- คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสิทธิ์ EBAสินค้า 1 ใน 5 ของกัมพูชาที่ส่งออกไป EU เป็นการชั่วคราว โดยเครื่องนุ่งห่มเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
- การตัดสิทธิ์ EBA ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของกัมพูชาค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์มีมูลค่าถึงราว 8% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา แต่ผลกระทบจะยังไม่มากในปี 2563 แต่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวได้ต่ำกว่า 1%
- ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มของไทยในกัมพูชาได้รับผลกระทบในกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ EBA โดยแนวทางการปรับตัวจำเป็นต้องหาตลาดอื่นหรืออาจพิจารณากระจายฐานการลงทุนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเวียดนาม
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) แถลงว่าได้ตัดสินใจตัดสิทธิ์ Everything But Arms* (EBA) เป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ที่สำคัญ คือ เครื่องนุ่งห่มบางรายการ รองเท้าบางรายการ และสินค้าสำหรับการเดินทาง (Travel goods) คิดเป็นสัดส่วนรวมราว 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกของกัมพูชาไป EU อันเป็นผลจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองในกัมพูชา ทั้งนี้ หากไม่มีการคัดค้านจากคณะมนตรียุโรป (European Council) และสภายุโรป (European Parliament) การตัดสิทธิ์ EBA จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563 โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราภาษีทั่วไป (MFN Rate) ซึ่งเป็นอัตราภาษีเดียวกับที่ EU เก็บจากไทย แต่สูงกว่าอัตราที่ EU เรียกเก็บจากเวียดนามภายใต้ GSP จึงบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากลุ่มดังกล่าว ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอีกด้วย
*EBA คือสิทธิพิเศษทางภาษีที่ EU ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) รวมถึงกัมพูชา ซึ่งทำให้กัมพูชาส่งออกไป EU ได้โดยไม่ต้องเสียภาษีและไม่มีโควตา ยกเว้นเพียงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 EU ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2561 และนำมาสู่การประกาศผลการตัดสิทธิ์ EBA ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ EBA … เครื่องนุ่งห่มได้รับผลกระทบมากที่สุด
สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ EBA มีมูลค่าราว 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกของกัมพูชาไป EU หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของกัมพูชา (สัดส่วนราว 60% ของมูลค่าส่งออกของกัมพูชา)
ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจกัมพูชา
ภาคการส่งออกของกัมพูชามีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์มีสัดส่วนถึงราว 8% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา แต่ในปี 2563 ผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกทั้งปีคาดว่าจะไม่มากนัก เนื่องจากการตัดสิทธิ์จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 ทำให้ผู้นำเข้าใน EU มีเวลาในการเร่งนำเข้าก่อนกัมพูชาถูกตัดสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของการส่งออกมีแนวโน้มกดดันให้เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าที่ทางการคาดไว้ที่ 6.1% เนื่องจากเศรษฐกิจกัมพูชาพึ่งพาภาคการส่งออกถึง 55% ของ GDP นอกจากนี้ เศรษฐกิจกัมพูชายังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เชื่อมโยงกับการจ้างงานราว 5.5 แสนคนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ประกอบกับยังถูกซ้ำเติมจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในกัมพูชา
- ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มของไทยในกัมพูชาได้รับผลกระทบในกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ EBA อาทิ เสื้อทีเชิ้ต ชุดชั้นใน ถุงน่อง และถุงเท้า ไปยังตลาด EU อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดหลักอื่น อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่ได้รับผลกระทบ
- แนวทางการปรับตัวของผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มไทยในกัมพูชา
-
- ผู้ประกอบการยังสามารถรักษาฐานการผลิตในกัมพูชาเพื่อรองรับการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่น เนื่องจากแม้จะถูกตัดสิทธิ์ EBA บางส่วนจาก EU แต่ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และข้อได้เปรียบด้านความสะดวกในการเข้าไปลงทุน รวมถึงทำเลที่ตั้งเชื่อมโยงกับไทย ทำให้กัมพูชายังคงเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของไทย
- ผู้ประกอบการที่เน้นส่งออกไป EU อาจพิจารณาฐานการลงทุนในประเทศอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเวียดนาม เนื่องจากค่าจ้างใกล้เคียงกับกัมพูชา และมีการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยภายใต้ความตกลงดังกล่าว EU จะทยอยลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามจนเหลือ 0% จากเดิมที่ถูกเก็บภาษีภายใต้ GSP Rate ตัวอย่างเช่น เสื้อทีเชิ้ต (อัตรา GSP และ MFN เก็บที่ 6% และ 12% ตามลำดับ) ซึ่ง EU จะทยอยลดภาษีนำเข้าลงทุกปีจนเหลือ 0% ในปีที่ 6 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
- การขยายการลงทุนไปเมียนมาที่ยังได้สิทธิ์ EBA จาก EU ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีลูกค้าจากตลาดหลักอื่นร่วมด้วย อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งให้สิทธิ์ GSP กับเมียนมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการที่ EU เคยประกาศว่าอาจพิจารณาตัดสิทธิ์ EBA ของเมียนมาจากปัญหาชาวโรฮิงญา ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของเมียนมาในอนาคต ดังนั้น การเข้าลงทุนในเมียนมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก EBA ของ EU เพียงอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืนต่อธุรกิจ
ที่เกี่ยวข้อง