การเงินธนาคาร

Disruption...ปรากฏการณ์ที่มากกว่าเรื่องเทคโนโลยี

Disruption มีความหมายตามพจนานุกรมว่า “การหยุดชะงัก” แต่ในแวดวงธุรกิจจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิด Disruption จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายธุรกิจ ทำให้ Disruption ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปหากพูดถึง Disruption เรามักจะนึกถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก อาทิ การพัฒนา Smart Phone ของบริษัท Apple ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือทำงานได้ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์และทำให้การใช้งานโทรศัพท์เป็นมากกว่าการสื่อสารผ่านเสียง จนทำให้บริษัท Apple ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมกับการตกต่ำลงของบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแบบเดิมหลายยี่ห้อ หรือกรณีของกล้องถ่ายภาพดิจิทัล ที่เข้ามาแทนที่กล้องถ่ายภาพแบบเดิมที่ใช้ฟิล์ม ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจฟิล์มถ่ายภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Disruption ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวและในหลายกรณีได้ส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของไทยด้วย อาทิ

โรคระบาด ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิด Disruption ในภาคธุรกิจได้ ซึ่งในประเทศไทยก็เคยเกิด Disruption ในรูปแบบดังกล่าวจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกมาแล้ว จากการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยในปี 2547 ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกขึ้น เนื่องจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถติดต่อมาสู่คนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึง
การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งขณะนั้นถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยหลายประเทศเริ่มมีมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องไข้หวัดนกจนทำให้ไทยแทบจะส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม
แม้การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยแทบจะหายไปนับตั้งแต่เกิดไข้หวัดนกระบาด แต่ก็นำมาสู่สินค้าส่งออกใหม่ ได้แก่ ไก่แปรรูป ที่ได้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศหันมานำเข้าไก่แปรรูปแทน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ทำให้มูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทยขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งหลายรายที่ไม่สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตไก่แปรรูปได้ ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์โรคระบาดในครั้งนั้น

 ภัยธรรมชาติ มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภัยธรรมชาติอาจก่อให้เกิด Disruption ได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2554 จนนำไปสู่การระเบิดของโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนำไปสู่กระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น จนทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดต้องปิดตัวลง ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้นถือเป็น Disruption ในแวดวงพลังงานของญี่ปุ่น  ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียง 2% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เคยเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และแม้ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มพิจารณาให้มีการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บางส่วน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแหล่งไฟฟ้าราคาถูก แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงไม่ได้กลับไปมีบทบาทมากเช่นในอดีต ทั้งนี้ Disruption ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้นำมาซึ่งโอกาสในธุรกิจโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานครั้งใหญ่ โดยหันมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 22-24% ในปี 2573 จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น ทำให้นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างรวดเร็วมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งไทยก็ได้อานิสงส์จาก Disruption ดังกล่าวในญี่ปุ่นจากการที่ผู้ประกอบการไทยหลายรายประสบความสำเร็จในการออกไปลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นในปัจจุบัน

กฎหมาย/กฎระเบียบ ที่เปลี่ยนแปลงไปถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคธุรกิจ ในกรณีประเทศไทยก็เคยมีการเปลี่ยนกฎระเบียบที่ก่อให้เกิด Disruption ในภาคธุรกิจ เช่น นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2555 สำหรับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2556 ซึ่งแน่นอนว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วย่อมกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 5 ปี นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทในปี 2555 มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยหายไปราว 1 ใน 3 ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้จำเป็นต้องปิดกิจการลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV

พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิด Disruption ในภาคธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Statista บริษัทผู้วิจัยด้านการตลาดพบว่ามูลค่าตลาด E-Commerce ทั่วโลกในช่วงปี 2557-2560 ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมขยายตัวเฉลี่ยเพียงราว 3% ในช่วงเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบเก่ากำลังเผชิญความเสี่ยงกับภาวะล้มละลาย โดยผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ต่างต้องปรับกลยุทธ์โดยการปิดสาขาบางส่วนลงเพื่อความอยู่รอดหรือต้องปรับโมเดลธุรกิจโดยหันไปเน้นจำหน่ายสินค้าออนไลน์มากขึ้น สวนทางกับผู้ประกอบการในธุรกิจ E-Commerce ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ Amazon และ Alibaba ทั้งนี้ จากการจัดอันดับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของ Forbes ซึ่งรวบรวมยอดจำหน่ายทั้งจากหน้าร้านและยอดจำหน่ายออนไลน์ พบว่าในปี 2560 ยอดจำหน่ายของบริษัท Amazon และ Alibaba ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 6 ของโลก ตามลำดับ เทียบกับอันดับในปี 2559 หรือเพียง 1 ปีก่อนหน้า ที่บริษัท Amazon อยู่เพียงอันดับ 8 และ Alibaba ไม่ติด 10 อันดับแรกด้วยซ้ำ

           แม้คำว่า Disruption ดูจะมีความหมายในเชิงลบ ขณะที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความรู้สึกกังวลกับปรากฏการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวและตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า Disruption ไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจจนอาจถึงขั้นต้องเลิกกิจการไป แต่ในทางกลับกัน Disruption ก็นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เล็งเห็นโอกาสและสามารถปรับตัว
ได้ทันในหลายๆ มิติของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด โรคระบาดใหม่ๆ
ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านการค้า
การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หัวใจสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการยุคใหม่จึงอยู่ที่ “ความยืดหยุ่น”และ “การปรับตัวที่รวดเร็ว” เพื่อรับมือให้ได้อย่างทันท่วงทีกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
  • วิสัยทัศน์ใหม่พญามังกร…ก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมโลก

    เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นประจำทุก 5 ปี ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายจีนในอนาคต ในครั้งนี...

    calendar icon14.12.2017
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products