การเงินธนาคาร
Sustainable Banking … อีกหนึ่งกลไกหยุดภาวะโลกร้อน
โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ในปี 2562 ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่าเป็นปีที่เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นหลายครั้งทั่วโลก เช่น วิกฤตคลื่นความร้อนจากทะเลทรายซาฮาราที่พัดเข้าปกคลุมทวีปยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนระอุ โดยเฉพาะกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 42.6 องศาเซลเซียส เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ไม่ต่ำกว่า 70,000 จุด สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของโลกที่ไม่เพียงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนถึง 20% ของโลก โดยพื้นที่ป่าอเมซอนที่ถูกทำลายไปจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลงเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นอันจะเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมภาวะโลกร้อนในปัจจุบันให้ยิ่งเลวร้ายลง ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดไฟป่ารุนแรงต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของออสเตรเลีย ทั้งในรัฐควีนส์แลนด์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ และตอนเหนือของเมืองซิดนีย์ หลายพื้นที่ในออสเตรเลียถูกประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสที่นับเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่ที่สุดที่พัดถล่มญี่ปุ่นในรอบ 60 ปี จนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่บ้านเรือนกว่า 13,000 หลังจมอยู่ใต้กระแสน้ำ รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองเวนิสของอิตาลีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างของภัยธรรมชาติที่สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันระบบนิเวศของโลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
“ภาวะโลกร้อน … บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
นอกเหนือจากความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัยที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ประมาณการว่าภายในปี 2593 ภาวะโลกร้อนจะเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อโลกถึง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน) จากปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผลิตภาพด้านแรงงาน ขณะเดียวกัน EIU ยังคาดว่าภายในปี 2593 ปัญหาภาวะโลกร้อนจะบั่นทอนให้ GDP โลกลดลง 3% จากกรณีปกติ สอดคล้องกับรายงาน Long-Term Macroeconomic Effects of Climate Change ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกระบุว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นปีละ 0.04 องศาเซลเซียส (ตั้งแต่ปี 2558-2643) รายได้เฉลี่ยของประชากรโลกจะลดลงจากกรณีปกติ 0.8% 2.5% และ 7.2% ในปี 2573 ปี 2593 และปี 2643 ตามลำดับ ดังนั้น ประชาคมโลกจึงหันมาให้ความสำคัญและกำหนดวาระเร่งด่วนในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและ Climate Change อย่างจริงจัง โดยมีสหประชาชาติ (UN) เป็นผู้นำสำคัญในการผลักดันการดูแลรักษาและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดให้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญและเร่งด่วนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อให้ทุกภาคส่วนกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ภายในปี 2573
“ระบบธนาคาร … เพิ่มบทบาทในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน”
จากที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนถือเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือ ธนาคารและสถาบันการเงิน ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของระบบเศรษฐกิจ (ราว 70-80% ของแหล่งเงินทุนของบริษัททั่วโลกมาจากระบบธนาคาร) ซึ่งถือเป็นต้นทางที่จะช่วยกำกับหรือควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจนำไปสู่ภาวะโลกร้อนผ่านการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก ดังนั้น จึงเกิดการผนวกแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับภาคธนาคารที่เรียกว่า “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) ซึ่งหมายถึงการธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาว โดยรายงาน Banking on Sustainability ของ International Financial Company (IFC) ได้ให้คำจำกัดความของ Sustainable Banking แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก คือ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ล่าสุดธนาคารจำนวน 130 แห่งจาก 49 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามรับหลักการของการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking) ของ UN โดยมีเป้าหมายให้ภาคธนาคารดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ตลอดจนร่วมสนับสนุนกิจกรรมหรือธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ธนาคารทั่วโลกปรับตัว … หนุน Circular Economy สอดรับกระแส Sustainable Banking”
แนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักการ Sustainable Banking สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยหนึ่งในแนวทางที่ธนาคารทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญอย่างชัดเจน คือ การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้นานและคุ้มค่าที่สุด ตลอดจนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตขาดแคลนทรัพยากร ตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะ ของเสีย และผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง
ไม่เพียงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจรีไซเคิลขยะคุณภาพสูง ธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจ Sharing Economy (ธุรกิจที่เกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพยากรหรือบริการระหว่างบุคคล) ตลอดจนยังเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดยรายงาน Growth Within: A Circular Economy Vision for a Competitive Europe ของ McKinsey คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 Circular Economy จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ยุโรปราว 1.8 ล้านล้านยูโร (เทียบเท่าขนาดเศรษฐกิจของอิตาลีในปัจจุบัน) ดังนั้น ธนาคารชั้นนำของโลกหลายแห่งจึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุน Circular Economy อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ธนาคาร 3 แห่งของยุโรป คือ ABN AMRO, ING และ Rabobank ร่วมกันจัดทำ Circular Economy Finance Guidelines (เนื้อหาประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ประโยชน์ของโครงการลงทุน กระบวนการประเมินโครงการ การบริหารจัดการ และการรายงาน/การติดตามผล) เพื่อให้ธนาคารทั่วโลกมีแนวทางการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน European Investment Bank และธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป 5 แห่งร่วมกันตั้งเป้าสนับสนุนโครงการที่พัฒนา Circular Economy ในยุโรปอย่างน้อย 10 พันล้านยูโรในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและ Climate Change ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ภาคธนาคารไทยร่วมเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันการสร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
สำหรับธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยก็ตื่นตัวต่อกระแสการอนุรักษ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวทาง Sustainable Banking ไม่แพ้กัน ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดัน Sustainable Banking อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในมิติของการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ สะท้อนได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Sustainable Banking Guidelines - Responsible Lending ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบสำหรับภาคธนาคารไทย ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 2) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน 4) ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ขณะที่การผลักดัน Circular Economy ของภาคธนาคารไทยก็มีสัญญาณในทิศทางบวก โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารของไทยเดินหน้าสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการออกตราสารหนี้สีเขียวหรือ Green Bond เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กล่าวโดยสรุปได้ว่า Sustainable Banking และ Responsible Lending เป็นแนวทางสำคัญที่ภาคธนาคารจะใช้เป็นกลไกเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยธนาคารและสถาบันการเงินสามารถนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ทั้งการดำเนินงานภายใน และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภายนอก เช่น ด้านนโยบายการให้สินเชื่อ กำหนดนโยบายปรับลดสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ ด้านกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง ธนาคารควรกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์การพิจารณา Responsible Lending ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ และป้องกันการให้สินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกมิติด้วยความโปร่งใส ตัวอย่าง : DBS ธนาคารของสิงคโปร์ ได้ระบุขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงสำหรับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบโดยละเอียด รวมถึงกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม พัฒนาช่องทางการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ตัวอย่าง : การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Application แทนการทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร การใช้ E-Document แทนกระดาษ (Paperless) ด้านทรัพยากรบุคคล การสร้างองค์ความรู้แก่พนักงานหรือจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (พลังงานหมุนเวียน/Circular Economy) เป็นการเฉพาะ ตัวอย่าง : Intesa Sanpaolo ธนาคารของอิตาลีได้จัดตั้ง Circular Economy Team สำหรับสนับสนุนธุรกิจที่อยู่บนหลักการ Circular Economy เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ธนาคารเข้าใจรูปแบบธุรกิจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบันนับเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่าภาวะโลกร้อนและ Climate Change กำลังอยู่ในระดับวิกฤตที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยธนาคารและสถาบันการเงินนับเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและ Climate Change ผ่านกลไก Sustainable Banking และ Responsible Lending ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประชาคมโลกสืบไป
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...
19.06.2020 -
5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19
5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...
18.05.2020 -
วิสัยทัศน์ใหม่พญามังกร…ก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมโลก
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นประจำทุก 5 ปี ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายจีนในอนาคต ในครั้งนี...
14.12.2017