การเงินธนาคาร

BCG Economy Model ... โมเดลธุรกิจใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต สะท้อนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะที่พัดถล่มหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ จนสภาพอากาศหนาวจัดในระดับต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส ขณะที่กรีซต้องเผชิญวิกฤตคลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี บราซิลประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ในรอบ 91 ปี รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในจีนและเยอรมนี ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ล่าสุดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่รายงาน Climate Change 2021 ระบุว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะภูมิอากาศแบบร้ายแรง โดยปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1-1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2393-ปี 2443) อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าหากประชาคมโลกไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ ในกรณีเลวร้ายที่สุดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นอีก 3.3-5.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 ดังนั้น นานาประเทศจึงเร่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของ UN ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างและกลายเป็นเทรนด์ธุรกิจสำคัญของโลกยุค New Normal นั่นคือ BCG Economy Model แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

 “เศรษฐกิจชีวภาพ ... สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตร”

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ รูปแบบหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ตลอดจนสร้างรายได้ให้ทุกกลุ่มธุรกิจตลอด Supply Chain โดย Bio Economy แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มอาหาร และกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ) ปัจจุบันหลายบริษัททั่วโลกนำแนวคิด Bio Economy มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจและสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัท Impossible Foods ของสหรัฐฯ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) โดยมีสินค้าขายดี คือ เนื้อเบอร์เกอร์จากพืช (Impossible Burger) ซึ่งเติบโตก้าวกระโดด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วสหรัฐฯ ถึง 17,000 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 150 ร้านในปี 2563 รวมถึงได้รับคัดเลือกให้เป็น Supplier แก่ Burger King เพื่อผลิตเมนู Plant-based Meat ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทฯ ระบุว่าการผลิต Plant-based Meat 1 ชิ้น ใช้ที่ดินน้อยกว่าการผลิตเนื้อจากวัว 96% ใช้น้ำน้อยกว่า 87% และสร้างมลพิษน้อยกว่า 89% สำหรับอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ บริษัท Biotrem ของโปแลนด์ จากเดิมเคยทำธุรกิจโรงสีข้าวและพบว่ามีเศษรำข้าวสาลีเหลือทิ้งจำนวนมาก บริษัทฯ เห็นโอกาสต่อยอดจากเศษรำข้าว จึงขยายธุรกิจสู่การนำรำข้าวสาลีที่เหลือทิ้งมาผลิตเป็นภาชนะเครื่องครัว เช่น จาน ส้อม และมีด ที่ย่อยสลายได้เองภายใน 1 เดือน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก โดยในปี 2562 ยอดขายภาชนะย่อยสลายเองได้โตขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2561 และปัจจุบันวางขายแล้วใน 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัท McKinsey & Company ที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำระดับโลก คาดว่าเศรษฐกิจชีวภาพจะช่วยสร้างเม็ดเงินแก่เศรษฐกิจโลกถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2583 (ใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปี 2564)

“เศรษฐกิจหมุนเวียน ... ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ”

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ รูปแบบหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตขาดแคลนทรัพยากร ตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่ Zero Waste หรือการลดปริมาณของเสียให้เป็นศูนย์ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น Recycle คือ การนำวัสดุ/สินค้าใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง หรือการผลิตสินค้า/บรรจุภัณฑ์จากขยะหรือวัสดุที่ใช้แล้ว Refurbishment คือ การนำสินค้าที่มีตำหนิและถูกส่งคืนมาซ่อมแซมแล้ววางขายอีกครั้งในราคาที่ถูกลง ปัจจุบันหลายบริษัทชั้นนำของโลกเริ่มนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ผลิตสินค้ากันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Nike ของสหรัฐฯ นำขยะมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตรองเท้าและเสื้อผ้าหลายรุ่น เช่น รองเท้ารุ่น Space Hippie ที่ใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติกและเสื้อยืดใช้แล้ว รวมถึงชุดแข่งขันของทีมสโมสรฟุตบอล Liverpool ฤดูกาล 2020-2021 ที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Move to Zero ของ Nike ที่มุ่งลดปริมาณคาร์บอนและของเสียให้เป็นศูนย์ โดยตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน Nike นำขวดพลาสติกใช้แล้วกว่า 7.5 พันล้านขวด มาผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับเสื้อฟุตบอล อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจ คือ บริษัท Unilever ของสหราชอาณาจักร ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งบรรจุภัณฑ์สบู่ ยาสระผม น้ำยาซักผ้า ล้วนมีส่วนประกอบที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลหรือสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาโมเดลธุรกิจ Refill & Reuse ในหลายประเทศ เช่น ในบราซิล บริษัทฯ ให้ลูกค้าสามารถนำขวดน้ำยาซักผ้าที่ใช้แล้วกลับมาเติมน้ำยาใหม่ได้ โดยมีบริการไปเติมถึงบ้าน ซึ่งลูกค้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการซื้อขวดใหม่ถึง 55% โครงการนี้ได้รับความสนใจจากชาวบราซิลเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนลูกค้าที่หันมาซื้อน้ำยาซักผ้าแบบ Refill เพิ่มขึ้นถึง 30% ในปี 2563 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าบริษัทชั้นนำของโลกมุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Circular Economy มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท Accenture ที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำของโลกที่คาดว่าภายในปี 2573 Circular Economy จะสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจโลกถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนีในปี 2564)

“เศรษฐกิจสีเขียว ...สร้างสมดุลให้สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม”

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ รูปแบบหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) การผลิตสินค้าที่ช่วยลดการใช้พลังงานหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษและพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกของผู้บริโภคยุคใหม่เป็นอย่างดี โดยตัวอย่างบริษัทชั้นนำของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว เช่น บริษัท Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก (วัดจากมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือ Market Capitalization) บริษัท Siemens Gamesa  ผู้ผลิตและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของสเปน ที่เข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแล้วกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 300 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 4.8 ล้านต้น ยิ่งไปกว่านั้น หลายบริษัทและสถาบันวิจัยทั่วโลกยังเริ่มคิดค้นแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่จะทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ถูกเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาดแห่งอนาคต เกิดจากการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาแยกน้ำบริสุทธิ์ให้กลายเป็นก๊าซไฮโดรเจน เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาตลอดกระบวนการผลิต ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทที่นำ Green Hydrogen มาใช้ควบคู่กับเชื้อเพลิงแบบเดิม เช่น บริษัท Voestalpine ผู้ผลิตเหล็กของออสเตรียนำร่องประยุกต์ใช้ Green Hydrogen ในการผลิตเหล็ก โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตทั้งหมดลง 30% ภายในปี 2573-2578 และลดลงถึง 80% ภายในปี 2593 ทั้งนี้ จากกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรง เป็นที่คาดว่า Green Economy ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่าการพัฒนาภาคธุรกิจของโลกไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 (ใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีรวมกันในปี 2564)  

 

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย พบว่าหลายภาคส่วนต่างขานรับ BCG Economy Model เช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก โดยภาครัฐนำโมเดล BCG มากำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569” ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูง ตลอดจนยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตและบริการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ เป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 2569 ได้แก่ 1) เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประชากร เช่น BCG จะมีส่วนสร้าง GDP เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านอัตรา 2) สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานในทุกระดับเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น คนไทยต้องเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 แสนคน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นไม่น้อยกว่า 20% จาก 16.5% ในปี 2562 และ 3) สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับในส่วนของภาคเอกชน ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหลายรายขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้โมเดล BCG โดยพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น มีผู้ประกอบการในธุรกิจแฟชั่นได้นำกระสอบหรือถุงปูนใช้แล้วมาผลิตเป็นกระเป๋า ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากตลาดจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ซึ่งการผลิตกระเป๋าดังกล่าวช่วยลดปริมาณขยะประเภทกระสอบได้ราว 5 พันตันต่อปี หรือผู้ประกอบการในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยส่งออกไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโตถึง 2 เท่าในปี 2563 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของไทยหลายรายได้รับการยอมรับและขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก

จะเห็นได้ว่า BCG เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการดูแลรักษาและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสทองแก่ผู้ประกอบการไทยที่หันมาปรับธุรกิจให้สอดรับกับรูปแบบ BCG ตลอดจนยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับนโยบายหรือมาตรการด้านความยั่งยืนสำหรับการนำเข้าของประเทศคู่ค้า เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการขยายตลาดบนเวทีการค้าโลก 

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่
ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้
ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
  • วิสัยทัศน์ใหม่พญามังกร…ก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมโลก

    เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นประจำทุก 5 ปี ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายจีนในอนาคต ในครั้งนี...

    calendar icon14.12.2017
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products