เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
กฎหมายเครื่องหมายการค้า (Trademark Law) เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจ หากคิดจะดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยผู้ประกอบการลดความเสี่ยงจากการถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของตน ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบ การปลอมแปลง หรือการแอบนำไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งหลายประเทศก็ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากจะมีส่วนช่วยสร้างความชัดเจนและความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ รวมถึงเมียนมาที่ได้ประกาศกฎหมายเครื่องหมายการค้า ภายใต้ Pyidaungsu Hluttaw Law No. 3/2019 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของเมียนมาที่ให้ความคุ้มครองสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าโดยตรง จากเดิมที่ให้การคุ้มครองภายใต้กฎหมายทั่วไป อาทิ กฎหมายพาณิชย์ และกฎหมายอาญา รวมถึงพระราชบัญญัติการจดทะเบียน ทำให้ที่ผ่านมาการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในเมียนมาทำได้จำกัดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมายังไม่ได้ประกาศวันบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลเมียนมาจะยังต้องใช้เวลาถึงช่วงต้นปี 2563 ในการเตรียมความพร้อมด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายดังกล่าว คือกลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในเมียนมา เนื่องจากการจดทะเบียนตามกฎหมายใหม่จะมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างไปจากเดิม รวมถึงผู้ประกอบการที่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเมียนมาแล้วจำเป็นต้องยื่นจดทะเบียนใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองตามกฎหมายฉบับใหม่ โดยรายละเอียดสำคัญของกฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่ มีดังนี้
-
ระบบการจดทะเบียน ที่ผ่านมาเมียนมาไม่มีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยตรง การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นต่อหน่วยงานราชการเท่านั้น โดยมีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ การยื่นเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (Declaration of Ownership) กับสำนักงาน Registrar of Deeds and Assurances และการลงประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Cautionary Notices ขณะที่การพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะในการต่อสู้คดีความ ใช้หลัก First-to-Use เป็นหลัก นั่นคือผู้ประกอบการรายใดที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นก่อนจะมีความได้เปรียบในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น อย่างไรก็ตาม หลัก First-to-Use ถือว่าไม่ใช่ระบบสากลที่นานาประเทศใช้ในการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ดังนั้น กฎหมายเครื่องหมายการค้าใหม่ของเมียนมาจึงเปลี่ยนไปใช้ระบบที่เป็นสากล คือ First-to-File ซึ่งยึดหลักความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าว่าผู้ใดมาจดทะเบียนก่อนก็ถือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งการมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วสามารถยื่นฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา หากมีผู้ละเมิดหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
-
ขั้นตอนการจดทะเบียน ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมากับหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา (นายทะเบียนอาจขอให้มีการแปลเอกสารเป็นกรณีไป) ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจสอบคำร้องจากเจ้าหน้าที่แล้ว นายทะเบียนจะ เผยแพร่/ประกาศคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถ คัดค้านคำขอจดทะเบียนดังกล่าวต่อนายทะเบียน ซึ่งหากไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนภายใน 60 วัน นายทะเบียนจะดำเนินการอนุมัติและออกทะเบียนเครื่องหมายการค้าแก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม หากมี ผู้คัดค้าน ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำโต้แย้งภายในเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะถือว่าคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นโมฆะ ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการเข้ามายื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกัน พร้อมกันมากกว่าหนึ่งรายภายในวันเดียวกัน นายทะเบียนจะให้ผู้ประกอบการเจรจาตกลงกันเองก่อน แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ การตัดสินจะขึ้นอยู่กับนายทะเบียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาก่อน ควรนำเอกสาร Declaration of Ownership แนบไปพร้อมกับคำขอจดทะเบียนภายใต้ระบบใหม่ เพื่อแสดงสถานะความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้าและสำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณา
ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเมียนมาภายใต้กฎหมายใหม่
ที่มา : รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-
อายุการคุ้มครองและการต่ออายุ เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายใหม่จะได้รับความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมเสร็จสมบูรณ์ และสามารถต่ออายุการคุ้มครองได้ทุกๆ 10 ปี โดยจะต้องยื่นคำร้องใหม่และชำระค่าธรรมเนียมภายใน 6 เดือนก่อนถึงวันหมดอายุ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการต่ออายุได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าปรับเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมการต่ออายุปกติ ทั้งนี้ นายทะเบียนมีสิทธิ์ยกเลิกทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากผู้ประกอบการไม่นำเครื่องหมายการค้าไปใช้เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี
การอนุมัติกฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามครั้งสำคัญของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศ พร้อมสื่อภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการดูแลทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาและต้องการป้องกันไม่ให้สินค้าของตนถูกละเมิดหรือถูกปลอมแปลงตราสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการควรติดตามความคืบหน้าของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การเตรียมเอกสารสำหรับการขอจดทะเบียน เพื่อที่จะสามารถเร่งดำเนินการจดทะเบียนในการรักษาสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของตน เมื่อรัฐบาลเมียนมาประกาศวันที่บังคับใช้อย่างแน่นอนแล้ว
ที่เกี่ยวข้อง
-
มาตรการ COVID-19 ที่ควรรู้สำหรับผู้ประกอบการในเมียนมา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมียนมานับว่ายังอยู่ในวงจำกัด โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 เมษายน 2563) จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเมียนมามีอยู่เพียง 27 ราย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำห...
30.04.2020 -
รู้จักภาษีการค้าเมียนมาผ่าน Union Tax Law 2019 ฉบับปรับปรุง
เมียนมายังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีการเก็บภาษีการค้า (Commercial Tax) กับสินค้าและบริการในประเทศ ผู้ประกอบการที่เข้าไปค้าขายหรือลงทุนในเมียนมาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจระบบภาษีดังกล่าว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ ...
30.12.2019
-
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนา...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019