เลียบรั้ว เลาะโลก
นับตั้งแต่วิกฤต Hamburger ในปี 2552 ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบอยู่ คือ “ภาวะเงินเฟ้อต่ำ” โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางกำหนดไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึงไทย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “New Normal of Prices” ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลงจากกรอบเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อาทิ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงไทย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มมีการพิจารณาปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อลงเช่นกัน
จากปรากฏการณ์ “ภาวะเงินเฟ้อต่ำ” ได้มีความพยายามที่จะหาสาเหตุและที่มาของปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมีหลายแนวคิดที่อธิบายปรากฏการณ์เงินเฟ้อต่ำได้น่าสนใจ ได้แก่ แนวคิด “Amazon Effect” ถูกพูดถึงครั้งแรกในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อปี 2561 โดยตั้งชื่อตามบริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Amazon.com โดยอธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์เงินเฟ้อต่ำทั่วโลกว่ามาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อสินค้า Online ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกที่สุด จนทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงในหมู่ผู้ขาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ แนวคิดเรื่อง “อุปทานล้นโลก” จากหนังสือ The Age of Oversupply : Overcoming the Greatest Challenge to the Global Economy ของ Daniel Alpert ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุน Westwood Capital ที่อธิบายว่า หลังวิกฤต Hamburger ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกทั้งแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย ต่างเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินทุนที่ท่วมโลก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการผลิตในช่วงที่ผ่านมาก็พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ ทำให้เกิดภาวะ “อุปทานล้นโลก” ดังเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของหลายประเทศทั่วโลกต่างปรับลดลงต่อเนื่องทั้งสหรัฐฯ จีน อินเดีย รวมถึงไทย สะท้อนว่าโลกกำลังเกิด “Global Oversupply” ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นและกดดันให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงตามไปด้วย แนวคิดเรื่อง “ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ” นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มผลิต Shale Oil ได้ในปี 2553 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน ด้วยปริมาณการผลิตกว่า 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน กดดันให้อุปทานน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก สวนทางกับอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
ในทางปฏิบัติแม้จะระบุได้ยากว่า ภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลกมาจากสาเหตุใดหรืออาจจะมาจากหลายสาเหตุก็ตาม แต่ภาวะเงินเฟ้อต่ำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลก (World Manufacturing Price Index) ของ WTO พบว่า ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกก่อนวิกฤต Hamburger เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวปีละ 6% ขณะที่หลังวิกฤต Hamburger ราคาส่งออกดังกล่าวเพิ่มเฉลี่ยเพียงปีละ 0.2% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นในตลาดการค้าโลก อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับกันสถานการณ์เงินเฟ้อต่ำที่นำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงไทย ถือเป็นจังหวะของผู้ประกอบการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงในการปรับกระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีลักษณะเฉพาะ (Niche) และตอบสนอง Megatrends แห่งอนาคต ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความไม่แน่นอนเพียงใด แต่สินค้าดังกล่าวก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ
ที่เกี่ยวข้อง