Hot Issues

อุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียทรุดหนัก … แรงกระเพื่อมถึงไทยไม่รุนแรงนัก

สถานการณ์สำคัญ
ยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียเดือนสิงหาคม 2562 ลดลง 33% (y-o-y) เหลือราว 2.5 แสนคัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมียอดจำหน่ายลดลง 32% (y-o-y) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลง 39% (y-o-y) นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 จนกระทบผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในอินเดีย อาทิ Tata Motor ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 4 แห่ง Mahindra & Mahindra ประกาศให้โรงงานทุกแห่งหยุดผลิตเป็นเวลา 5-13 วันต่อเดือนในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2562 Honda Car India หยุดผลิตรถยนต์บางรุ่นในโรงงานที่ตั้งอยู่ในรัฐราชสถาน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอินเดียเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 350,000 ตำแหน่ง และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะลดจำนวนพนักงานลงอีก หากตลาดรถยนต์อินเดียยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น


 ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินสาเหตุที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียลดลงและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย สรุปได้ดังนี้
1) อินเดียเตรียมใช้มาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์ในรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถสามล้อจาก Bharat Stage IV (BS4) เป็น Bharat Stage VI (BS6) ซึ่งจะบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ส่งผลให้รถยนต์มาตรฐานเดิม (BS4) ถูกห้ามจำหน่ายและจดทะเบียน มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียชะลอการผลิตรถยนต์ เพื่อเร่งระบายรถยนต์รุ่นเก่า (BS4) ในสต็อก ขณะที่ผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์ก็เลื่อนเวลาออกไป เพื่อรอซื้อรถยนต์ใหม่ที่ผ่านมาตรฐาน BS6
2) สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจอินเดียที่ชะลอการขยายตัว จะกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ ล่าสุด EIU ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ไว้ที่ 5% ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ขยายตัว 7.9% ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ปัจจัยบั่นทอนดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ชาวอินเดียที่กำลังจะซื้อรถยนต์ใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น มีการประมาณการกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 การเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารส่งผลให้จำนวนผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลงถึง 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบการส่งออกในหมวดยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวไปอินเดียเพียง 2% ของมูลค่าส่งออกยานพาหนะฯ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การส่งออกยานพาหนะฯ ไปอินเดียที่ลดลงกว่า 10% (y-o-y) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา อาจซ้ำเติมสถานการณ์ส่งออกยานยนต์ไทยที่ค่อนข้างซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบันให้แย่ลงกว่าเดิม โดยผู้ส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ คือ ผู้ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ (รวมเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบมีลูกสูบ) ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 83% ของมูลค่าส่งออกยานพาหนะฯ ทั้งหมดของไทยไปอินเดีย สำหรับในระยะยาว คาดว่าตลาดรถยนต์อินเดียมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว เพราะคาดว่าหลังผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียปรับสายการผลิตและเริ่มผลิตรถยนต์มาตรฐาน BS6 ออกสู่ตลาดแล้ว จะจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเร่งให้ผู้ใช้รถยนต์ตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ และส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของอินเดียกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดีย เนื่องจากหากเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคอินเดียให้ซบเซาลง และส่งผลต่อเนื่องมาถึงการส่งออกยานพาหนะฯ ของไทยไปอินเดียได้

เกร็ดน่ารู้
- อินเดียเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก มียอดผลิตราว 5.2 ล้านคัน ในปี 2561
- อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการครอบครองรถยนต์ต่ำที่สุดในโลกเพียง 22 คันต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศที่มีประชากรอันดับ 2 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพตลาดรถยนต์อินเดียที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อีก
- ตลาดรถยนต์อินเดียราว 59% เป็นของบริษัทญี่ปุ่น อาทิ Maruti Suzuki (50%) Honda Car India (5%) และ Toyota Kirloskar (4%)
- อินเดียนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยสูงเป็นอันดับ 5 (ราว 7% ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดของอินเดีย) ชิ้นส่วนฯ นำเข้าสำคัญ อาทิ ระบบเกียร์

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • การส่งออกสินค้าไทยท่ามกลางตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน

    ประเด็นสำคัญ ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย ...

    calendar icon20.04.2021
  • คลื่นการชุมนุมประท้วง...เขย่าเศรษฐกิจของหลายประเทศ

    ประเด็นสำคัญ ปี 2562 เป็นปีแห่งการประท้วงทั่วโลก หลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก การประท้วงที่เกิดขึ้นครอบคลุม...

    calendar icon27.12.2019
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products