Hot Issues

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับแท้จากจีน เพิ่มโอกาสส่งออกไทย

สถานการณ์สำคัญ

 สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มเพชรทั้งหมด (ยกเว้นเพชรอื่นๆ ในหมวด HS 710239) จากจีนเป็นร้อยละ 30 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าหมวดนี้จากจีนเป็นครั้งที่สาม ขณะที่อัตราภาษีปกติที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอยู่ที่ร้อยละ 0 ส่งผลให้ปัจจุบันจีนต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่าอัตราทั่วไปถึงร้อยละ 30

นอกจากสินค้าในกลุ่มข้างต้น สหรัฐฯ ยังเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มพลอย (HS 7103) เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน (HS 711311) เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง (HS 711319) เครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (HS 711320) และเพชรอื่นๆ ในหมวด HS 710239 จากจีนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562

 

ไทยมีโอกาสส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ไปตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทดแทนจีน

สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้อันดับ 2 ของจีน รองจากฮ่องกง โดยในปี 2561 จีนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ไปสหรัฐฯ มูลค่า 2,491.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 16 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ทั้งหมดของจีน การที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแท้จากจีนในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 30 ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีจากไทยในอัตราสูงสุดเพียงร้อยละ 5.5 เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในสินค้าบางรายการ ฝ่ายวิจัยธุรกิจจึงคาดว่า ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าจากจีนอาจจะหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นรวมถึงไทยในอัตราภาษีต่ำกว่าแทน ส่วนผู้ผลิตจีนที่ได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนที่จะมีประกาศปรับขึ้นภาษีและต้องส่งมอบสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นแล้วก็อาจจะหันไปจ้างผู้ผลิตจากประเทศอื่นที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ำกว่าเพื่อผลิตสินค้าล็อตดังกล่าวส่งออกไปสหรัฐฯ แทน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยธุรกิจได้วิเคราะห์โอกาสสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแท้ของไทยที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ดังนี้

กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยมีโอกาสได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทดแทนจีนมีดังนี้

 กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์มาก (สินค้าที่มีส่วนต่างภาษีสูง จีนมีส่วนแบ่งตลาดอยู่มาก และไทยมีศักยภาพในตลาดนี้) คือ เครื่องประดับเงิน เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินสำคัญอันดับ 2 ของสหรัฐฯ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 19.4 ของมูลค่านำเข้าเครื่องประดับเงินทั้งหมดของสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และมีผลให้ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนสูงกว่าไทยถึงร้อยละ 15-23.5 ประกอบกับไทยมีศักยภาพสูงในตลาดนี้ สังเกตได้จากการที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินอันดับ 1 ของสหรัฐฯ จึงมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะหันมานำเข้าเครื่องประดับเงินจากไทยเพิ่มขึ้นแทนที่จีน

กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ปานกลาง (สินค้าที่มีส่วนต่างภาษีสูง จีนมีส่วนแบ่งตลาดอยู่มาก แต่ไทยมีศักยภาพในตลาดนี้ปานกลาง) คือ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ แม้ทั้งสองกลุ่มจะเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 13 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ และสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้จากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จนทำให้ส่วนต่างภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนสูงกว่าไทยถึงราวร้อยละ 14-22 แต่เนื่องจากไทยยังมีศักยภาพในตลาดนี้ไม่มากนัก สังเกตได้จากส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวของไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 4.7 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ จึงคาดว่าสหรัฐฯ จะหันมานำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยเพิ่มขึ้นทดแทนจีนเพียงบางส่วน และอาจกระจายไปนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ อาทิ อินเดีย ฝรั่งเศส อิตาลี จอร์แดน และสเปน ที่มีศักยภาพในสินค้านี้มากกว่าไทย

กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์น้อย (สินค้าที่มีส่วนต่างภาษีสูง แต่จีนมีส่วนแบ่งตลาดอยู่น้อย) คือ พลอย และเพชร ซึ่งแม้จะเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยพลอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และเพชรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-30 แต่เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ อยู่ไม่มาก เพียงร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ดังนั้น แม้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าพลอยอันดับ 2 ของสหรัฐฯ และมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะหันมาสั่งซื้อพลอยจากไทยแทนจีน แต่คาดว่ายอดการสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่เพชรเป็นสินค้าที่ทั้งจีนและไทยต่างมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่มาก จึงคาดว่าจะได้ประโยชน์น้อย

กลุ่มที่คาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ (สินค้าที่ส่วนต่างทางภาษีเท่าเดิม) คือ ไข่มุก เนื่องจากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน

อย่างไรก็ตาม โอกาสของผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัว ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 IMF ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2562 เหลือร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ประกอบกับความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจทำให้ชาวอเมริกันเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • China Evergrande Group ส่งสัญญาณผิดนัดชำระหนี้

    ประเด็นสำคัญ China Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หลายฝ่ายคาดว่าในเชิงโครงสร้างรัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้ และ...

    calendar icon20.09.2021
  • ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า…กดดันธุรกิจท่องเที่ยวโลก

    ประเด็นสำคัญ ความเร็วในการฟื้นตัวของการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนขึ้นกับการกระจายวัคซีน และความเข้มงวดของมาตรการควบคุม COVID-19 ของจีน นักท่องเที่ยวจีนเป็นความหวังของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกหลังว...

    calendar icon01.06.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products