Hot Issues

สงครามการค้าระอุ หลังสหรัฐฯ จ่อขึ้นภาษีสินค้า EU

ประเด็นสำคัญ

  • สหรัฐฯ กำลังพิจารณา เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU จำนวน 89 รายการ วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเติมจากรายการที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อเดือนเมษายน 2562 วงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีที่ EU ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน

  • สินค้า EU ที่สหรัฐฯ พิจารณาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ชีสสด เชอร์รีแห้ง กาแฟ เนื้อหมู ไส้กรอก แฮม วิสกี้

  • สหรัฐฯ เตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม 2562 เกี่ยวกับการเพิ่มรายชื่อสินค้า EU ที่จะเรียกเก็บภาษี

สถานการณ์สงครามการค้าที่มีท่าทีว่าจะบรรเทาลง หลังการประชุม G20 ซึ่งสหรัฐฯ และจีนตกลงที่จะเริ่มการเจรจาการค้าระหว่างกันรอบใหม่ และสหรัฐฯ จะไม่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมตามที่เคยประกาศไว้ รวมถึงยังผ่อนผันให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถทำธุรกิจกับบริษัท Huawei ของจีนได้ แต่สงครามการค้าอาจปะทุขึ้นใหม่กับสหภาพยุโรป (EU) โดยล่าสุดสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU เพิ่มอีก 89 รายการ (วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มเติมจากรายการที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อเดือนเมษายน 2562 วงเงิน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีที่ EU ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน โดยเฉพาะต่อบริษัท Airbus ของฝรั่งเศส ทำให้สถานการณ์สงครามการค้ากลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งและยิ่งเพิ่มความไม่ชัดเจนให้กับสถานการณ์การค้าโลก

ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และ EU ในการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน

ข้อพิพาทในประเด็นดังกล่าวมีมานานเกือบ 15 ปี โดยทั้ง EU และสหรัฐฯ ต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าให้เงินอุดหนุนแก่ Airbus (ฝรั่งเศส) และ Boeing (สหรัฐฯ) เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในธุรกิจการบินโลก ทำให้มีการตอบโต้กันไปมาหลายระลอก นับเป็นข้อพิพาทที่ซับซ้อนและยืดเยื้อที่สุดที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยของ WTO ล่าสุดสหรัฐฯ ตอบโต้ EU ด้วยข้อกล่าวหาว่านโยบายอุดหนุน Airbus สร้างความเสียหายให้สหรัฐฯ กว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นที่มาของการขู่ว่าจะพิจารณาขึ้นภาษีสินค้า EU ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562  

สินค้า EU ที่สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาเรียกเก็บภาษี

  • สินค้าที่ประกาศรอบแรก (เม.ย. 2562) มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง / นม เนย ชีส / ผลไม้สดและแห้ง / อาหารทะเลแปรรูป / ผักผลไม้แปรรูป เช่น แยม และน้ำผลไม้ / ไวน์ บรั่นดี / น้ำมันหอมระเหย / เครื่องหนังบางประเภท / หนังสือ / เส้นใย ด้าย / ผ้าผืนบางชนิด / เสื้อผ้า / เคหะสิ่งทอ / ผลิตภัณฑ์เซรามิก / เหล็กและผลิตภัณฑ์

  • สินค้าที่ประกาศรอบล่าสุดเพิ่มเติม (ก.ค. 2562) มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ชีสสด / พาสต้า / เชอร์รีแห้ง / มะกอก / กาแฟ / เนื้อหมูแปรรูป ไส้กรอก แฮม / วิสกี้ / ท่อเหล็ก

ประเด็นที่ต้องติดตาม

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า กรณีที่สหรัฐฯ ตอบโต้ EU ในประเด็นให้เงินอุดหนุน Airbus ยังต้องรอคำตัดสินชี้ขาดจาก WTO ซึ่งการที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจาก EU ได้หรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับคำตัดสินดังกล่าวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม 2562 ในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีจาก EU เพิ่มเติม

ผลกระทบหากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้า EU

ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสินค้าที่สหรัฐฯ พิจารณาเรียกเก็บภาษีจาก EU ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าอาหาร ซึ่งไม่ได้มีลักษณะการผลิตแบบ Supply Chain เหมือนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

  • ผลกระทบทางลบ : ผู้ประกอบการ EU ในกลุ่มสินค้าที่พิจารณาเรียกเก็บภาษีจะได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อกำลังซื้อของ EU เนื่องจากกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง 5% ของมูลค่าส่งออกจาก EU ไปสหรัฐฯ

  • ผลกระทบทางบวก : ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่คล้ายคลึงกับ EU อาทิ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ อาจได้ประโยชน์จากการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แทน EU

  • ผลกระทบต่อไทย : อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ใน Supply Chain การผลิตสินค้าดังกล่าวของ EU รวมทั้งไทยไม่ได้ผลิตสินค้าเกษตรที่คล้ายคลึงกับ EU

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products