Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดในกลุ่ม CLMV ขณะที่เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวในปี 2565 จากสถานการณ์ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ
- เมียนมาและ สปป.ลาว ที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนโดยรวมของโลก ทำให้ COVID-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ขณะที่กัมพูชามีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนมากที่สุดจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปัญหาหนี้สาธารณะของ สปป.ลาว กดดันความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ขณะที่หนี้สาธารณะของเมียนมาปรับขึ้นรวดเร็ว แต่หนี้สาธารณะของเมียนมาส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ
- มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด รวมถึงไปเมียนมา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่แนวโน้มส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศ CLMV
ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดที่ระดับ 6.6% เนื่องจากคาดว่าจะได้แรงหนุนจากการขยายตัวในภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ประกอบกับภาคส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มเติบโตดีจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 5.7% โดยได้อานิสงส์จากภาคส่งออก ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากกัมพูชาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วสามารถเดินทางเข้ากัมพูชาโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564 สำหรับ สปป.ลาว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.2% เข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เนื่องจากโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เตรียมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2564 จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากจีน ขณะที่การส่งออกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ประกอบกับการที่จีนประกาศยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าของ สปป.ลาว จำนวน 97% ของสินค้าที่จีนนำเข้าทั้งหมดจาก สปป.ลาว ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ทำให้การส่งออกสินค้าไปจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 มีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปี 2565 ที่ 0.1% โดยวิกฤต COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจของเมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน ไปจนถึงการบริโภคภายในประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
- ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน : เมียนมาเป็นประเทศที่น่ากังวลที่สุดจากอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนวัคซีนและบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการที่ชาวเมียนมาบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเมียนมาอาจล่าช้าไปจนถึงปี 2568 ขณะที่ สปป.ลาว ยังคงมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนของโลก ทำให้เศรษฐกิจยังคงเปราะบางหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม กัมพูชาเป็นประเทศที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังมีแต้มต่อจากการเป็นพันธมิตรของจีน ทำให้กัมพูชาได้รับวัคซีนบริจาคจากจีนมากถึง 27 ล้านโดส
- ปัญหาหนี้สาธารณะ :
- ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล สปป.ลาว อยู่ในสถานะที่น่ากังวล เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูงถึง 71% ต่อ GDP โดยในช่วงปี 2564-2568 รัฐบาลมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ (ดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ครบกำหนด) เฉลี่ยราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำราว 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้
การจัดเก็บรายได้ภาครัฐยังทำได้ลำบากในปัจจุบันจากวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล สปป.ลาว มีการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง และล่าสุดได้ตั้งเป้ารักษาระดับหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2566 ไม่ให้เกิน 64.5% และ 55.4% ตามลำดับ โดยจะชะลอการกู้เงินใหม่และอาจต้องจำหน่ายสินทรัพย์รัฐบาลบางส่วนออกไป ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว แต่จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว - ระดับหนี้สาธารณะของเมียนมาในปี 2564 ปรับขึ้นรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 58.4% ต่อ GDP จาก 34.2% ในปีก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ประกอบกับสถานการณ์เงินจ๊าตในปัจจุบันที่อ่อนค่าลงราว 25% จากช่วงก่อนรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ทำให้หนี้ต่างประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวถือว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศราว 60% ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ
- ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล สปป.ลาว อยู่ในสถานะที่น่ากังวล เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูงถึง 71% ต่อ GDP โดยในช่วงปี 2564-2568 รัฐบาลมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ (ดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ครบกำหนด) เฉลี่ยราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำราว 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้
ผลกระทบและแนวโน้มต่อการส่งออกของไทยไป CLMV
มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด ไม่เว้นแม้แต่การส่งออกไปเมียนมาที่ขยายตัวถึง 13% แม้เมียนมาต้องเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย อีกทั้งหลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับเมียนมาลงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว ยิ่งจะทำให้การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเมียนมา ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อัตราขยายตัวของการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากการส่งออกไป CLMV ที่เพิ่มขึ้นสูงในปี 2564 ถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติจากที่วิกฤต COVID-19 ทำให้การค้าในปี 2563 หดตัวรุนแรง
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
สหรัฐฯ เก็บ AD ยางล้อไทย ... ผลกระทบรุนแรงขึ้นในระยะถัดไป
ประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 50%) ประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย สำหรับยางล้อนำเข้าจากไทย (14.62 - 21.09%) เวียดนาม (0-22.27%) เกาหลีใต้ (14.72-27.05%) และไต้หวัน (20.04-...
09.06.2021 -
การส่งออกสินค้าไทยท่ามกลางตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน
ประเด็นสำคัญ ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย ...
20.04.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019 -
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EU
ประเด็นสำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ใน EU ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 การแพร่ระบาดเป็นปัจจัยบั่นท่อนเศรษฐกิจ EU โดยจะส่งผลกระทบต่อภา...
24.03.2020