คุยกับ Exim

ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่ในทวีปแอฟริกาที่เพิ่มขึ้นกว่า 320 แห่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีแม่เหล็กดึงดูดสำคัญจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่ธาตุซึ่งมีอยู่หลายชนิดและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นแหล่งผลิตแร่โคบอลต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบกับแนวโน้มจำนวนประชากรที่คาดว่าจะแซงหน้าจีนภายในปี 2568 หรืออีกเพียง 6 ปีข้างหน้า ดังนั้น ผมคิดว่าอีกไม่นานนี้ คงจะได้เห็นมูลค่าการค้าและการลงทุนจากประเทศต่างๆ เข้าไปในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของทวีปแอฟริกามีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นตามศักยภาพของแต่ละประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากจะเห็นว่าตัวเลขคาดการณ์ประเทศที่มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุด 25 อันดับแรกของโลกในช่วงระหว่างปี 2562-2566 จะมีประเทศในทวีปแอฟริกาติดอันดับถึง 14 ประเทศ อาทิ เยเมน เอธิโอเปีย รวันดา แทนซาเนีย และเคนยา ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตย่อมก่อให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้ชาวแอฟริกันมีกำลังซื้อสูงขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภาพทวีปแอฟริกาในอนาคตจึงเป็นตลาดที่สดใสสำหรับหลายอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ผมนึกถึง เพราะรถยนต์เป็นทั้งเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต


ปัจจุบัน ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ทั้งทวีปแอฟริกามีเพียง 1 ล้านคันต่อปี ใกล้เคียงกับยอดจำหน่ายในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ทั้งๆ ที่ประชากรในทวีปแอฟริกามีมากกว่าไทยถึง 17 เท่า อัตราการครอบครองรถยนต์ของชาวแอฟริกันจึงยังอยู่ในระดับต่ำมาก โดย The International Organization of Motor Vehicle Manufacturers ประเมินว่าแม้อัตราการครอบครองรถยนต์ในทวีปแอฟริกาปี 2558 จะเพิ่มขึ้นถึง 35% จากปี 2548 มาอยู่ที่ 42 คันต่อประชากร 1,000 คน แต่ก็ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการครอบครองรถยนต์เฉลี่ยของทวีปอเมริกาเหนือที่ 670 คัน EU 851 คัน หรือแม้แต่ไทยที่ 228 คัน ทำให้ผมมองว่าตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนในทวีปแอฟริกายังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมากครับ นอกจากนี้ แอฟริกายังมีแต้มต่อในการเป็นฐานผลิตและส่งออกรถยนต์ จากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากสหรัฐฯ และ EU รวมถึงหลายประเทศยังมีการจัดทำข้อตกลงทางการค้า อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศแอฟริกาใต้กับ EU และเขตการค้าเสรีและความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศโมร็อกโกกับ EU (European Union Association Agreement)


แม้ภาพที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ในทวีปแอฟริกาคือการเป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีขนาดเล็กด้วยกำลังการผลิตเพียงปีละ 1 ล้านคัน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าทวีปแอฟริกาเป็นที่ตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ กว่า 10 ค่าย จากทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยประเทศในทวีปแอฟริกาที่ค่ายรถยนต์เข้าไปลงทุนมากที่สุด คือ แอฟริกาใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ BMW, Volkswagen, Mercedes-Benz, Ford, Toyota, Nissan และ Isuzu ตามมาด้วยโมร็อกโกที่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2560 ราว 3.7 แสนคัน โดยโมร็อกโกอาศัย
ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งที่อยู่ตอนบนของทวีปใกล้กับยุโรปจึงมีส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยุโรป คือ Renault และ Peugeot เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิตและส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายในประเทศฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี การทยอยเข้าไปตั้งฐานการผลิตและขยายกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาผลักดันให้ทวีปแอฟริกากลายเป็นฐานผลิตรถยนต์ที่โตเร็วที่สุดในโลก โดยในช่วงระหว่างปี 2556-2560 ปริมาณการผลิตรถยนต์ในทวีปแอฟริกาขยายตัวเฉลี่ยถึง 10% ต่อปี สูงกว่าฐานผลิตรถยนต์สำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียและโอเชียเนียซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตรถยนต์ได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4% ยุโรป 2% และสหรัฐฯ 0.6% และสูงกว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ของทั้งโลกที่ขยายตัวเฉลี่ย 3% นอกจากนี้ ในช่วงปี 2560-2561 ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็เริ่มกระจายการลงทุนไปในประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกามากขึ้น อาทิ PSA Group สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่แอลจีเรียและคาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2562 ขณะที่ Volkswagen เพิ่มการลงทุนผลิตรถยนต์ในเคนยา


จากศักยภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในทวีปแอฟริกาที่ผมกล่าวมาข้างต้น เมื่อประกอบกับที่แอฟริกายังผลิตชิ้นส่วนได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งค่ายรถยนต์ที่ลงทุนในทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นค่ายรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในไทยเช่นกัน ทำให้ผมมองว่าผู้ประกอบการของไทยที่สนใจส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ควรหาทางเร่งทำตลาดแอฟริกาในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วครับ สำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ที่สนใจเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกาเพื่อเข้าไปใกล้ชิดตลาดมากขึ้นนั้น ผมคิดว่าก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในระยะยาว เนื่องจากทวีปแอฟริกาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกา จากปัจจุบันแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีการค้าภายในกลุ่มต่ำที่สุดในโลกเพียง 18% เมื่อเทียบกับยุโรปที่สูงถึง 70% และเอเชียที่ราว 45% เราจึงเห็นข่าวการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในแอฟริกา อาทิ การจัดตั้งประชาคมเขตการค้าเสรีแห่งทวีปแอฟริกา (Tripartite Free Trade Area : TFTA) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 26 ประเทศ และความพยายามจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (The African Continental Free Trade Area : CFTA) ซึ่งมีเป้าหมายจะรวบรวมสมาชิกให้ได้ครบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ ยิ่งข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ภายในภูมิภาคนี้ขยายใหญ่ขึ้น การเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกาก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นครับ เพราะเมื่อผู้ประกอบการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วก็สามารถจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศอื่นในกลุ่มได้สะดวกกว่าการนำสินค้าจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 54 ประเทศที่มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่จะรุกตลาดดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเข้าไปลงทุน ซึ่งทาง EXIM BANK พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนเงินทุนและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยออกไปคว้าโอกาสในทวีปแอฟริกาได้อย่างมั่นใจมากขึ้นครับ

Related
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • อีคอมเมิร์ช : ช่องทางใหม่ขยายตลาดส่งออกในยุค New Normal

    ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 หลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายสินค้าและกำไรที่ลดลง โดยเฉพาะธุรกิจที่ขายสินค้าผ่านหน้าร้านเป็นหลัก เนื่องจากผู้คนต่างเก็บตัวอยู่กับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเช...

    calendar icon27.08.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products