คุยกับ Exim

ทรัพย์สินทางปัญญา...เรื่องใกล้ตัวที่ผู้ส่งออกน่าจะใช้ประโยชน์กันให้มาก

เมื่อเอ่ยถึงทรัพย์สินทางปัญญา ผมเชื่อว่าคงมีผู้อ่านไม่น้อยที่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และไกลตัว หลายท่านอาจนึกถึงสิทธิบัตร (Patent) ที่คุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และคงรู้สึกว่าตนเองเป็นเพียงคนค้าขายสินค้าธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่ได้ประดิษฐ์คิดค้นอะไรที่ยิ่งใหญ่ คงไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร หรือบางท่านก็อาจคิดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ (Copyrights) ที่คุ้มครองสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ อาทิ วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องของศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการค้าขายหรือการส่งออกของท่าน แต่ความจริงแล้วทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้ส่งออกมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อทางการค้า (Trade Name) หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่ายี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้า (Trademark) ที่ผู้ส่งออกใช้กันอยู่ ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยได้ยินกรณีที่ผู้ส่งออกต้องจำยอมเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของตนเมื่อทำการส่งออก เพราะมีผู้ประกอบการรายอื่นได้นำเครื่องหมายการค้านี้ไปจดทะเบียนในตลาดส่งออกนั้นอยู่ก่อนแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ควรให้ความสำคัญและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ส่งออก แต่ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหลายเรื่องหากท่านทราบจะช่วยให้ท่านทำการค้าได้สะดวกขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ และยังช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน วันนี้ผมมีหลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านดังนี้ครับ

  • รู้จักพิธีสารมาดริด...ตัวช่วยที่ทำให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศง่ายขึ้นที่ผ่านมาเมื่อผู้ประกอบการจะเริ่มส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศก็ต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเทศที่ตนส่งออก เพื่อให้เครื่องหมายการค้าของตนได้รับความคุ้มครองในประเทศนั้นๆ ด้วย หากส่งออกไป 10 ประเทศก็ต้องไปจดทะเบียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการเดินทางหรือแต่งตั้งตัวแทนไปจดทะเบียน จึงอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ทั้งนี้ หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริด (Protocol Relating to Madrid Agreement Concerning the International Registration of Marks) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Madrid Protocol อันมีจุดเริ่มต้นจากความตกลงมาดริด (Madrid Agreement) ที่ประเทศในยุโรปซึ่งมีความใกล้ชิดกัน และทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าตลอดจนบริการข้ามพรมแดนกัน อย่างเบลเยียม ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับระบบการจดทะเบียนและการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าร่วมกัน เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพและลดอุปสรรคในการค้าขายระหว่างกันตั้งแต่ปี 2435 ซึ่งต่อมาได้มีประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีการปรับปรุงรายละเอียดให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จนปัจจุบันพิธีสารมาดริดมีภาคีสมาชิก 102 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี อียิปต์ เคนยา และโมซัมบิก นั่นหมายความว่าจากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริดทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด (ระบบมาดริด) ด้วยคำขอจดทะเบียนเพียง 1 ฉบับ แล้วเลือกประเทศที่ต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะเป็นกี่ประเทศก็ได้ แต่ประเทศเหล่านั้นต้องเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริดโดยไม่ต้องเดินทางหรือจ้างตัวแทนไปจดทะเบียนในประเทศนั้นๆ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการมาก เพราะนอกจากจะเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลาในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้อีกด้วยครับ

  • เพิ่มมูลค่าให้สินค้าส่งออกด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เกิดจากการที่ชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้า ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดียวกันที่ผลิตในพื้นที่อื่นๆ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง Bordeaux Wine ของฝรั่งเศส หรือ Irish Whisky ของไอร์แลนด์ การขึ้นทะเบียน GI จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการใช้นำไปสร้างเอกลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนได้อย่างน่าทึ่ง ยกตัวอย่างเช่น กาแฟดอยช้างของไทย เมื่อขึ้นทะเบียน GI ใน EU แล้ว ทำให้มีราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 12 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นกิโลกรัมละ 65 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียวครับ ดังนั้น หากสินค้าของท่านอยู่ในขอบเขตที่จะขึ้นทะเบียน GI ได้ ก็อย่าละเลยการไปขึ้นทะเบียนกันนะครับ

  • ใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์เพิ่มอีกนิด เพื่อปกป้องธุรกิจที่ท่านสร้างนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของท่านแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ส่งออกควรใส่ใจและใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจส่งออกของท่านต้องประสบปัญหา นั่นคือเรื่องการไม่ใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act : UCA) เพื่อต่อต้านสินค้านำเข้าที่ผลิตโดยใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ (Pirated Software) โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจอายัดสินค้าที่เข้าข่ายผลิตโดยใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อถูกจับกุมได้จะมีค่าปรับสูงสุดถึง 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ และลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดด้วยการห้ามผู้ส่งออกรายนั้นส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้ประกอบการไทยถูกดำเนินคดีและต้องเสียค่าปรับถึง 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว ซึ่งในกรณีนี้เห็นได้ชัดเลยครับว่าเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการลดต้นทุนด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก่อให้เกิดต้นทุนแฝงอย่างมหาศาลเมื่อเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันขึ้น นอกจากท่านจะต้องเสียค่าปรับแพงกว่าค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้ว ท่านยังต้องเสียทั้งเวลาและเสียชื่อเสียงของบริษัทที่ท่านสั่งสมมา หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดท่านก็อาจเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ อย่างถาวรจากความผิดพลาดที่ท่านอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สลักสำคัญอะไร ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • อีคอมเมิร์ช : ช่องทางใหม่ขยายตลาดส่งออกในยุค New Normal

    ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 หลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายสินค้าและกำไรที่ลดลง โดยเฉพาะธุรกิจที่ขายสินค้าผ่านหน้าร้านเป็นหลัก เนื่องจากผู้คนต่างเก็บตัวอยู่กับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเช...

    calendar icon27.08.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products