ข่าวเศรษฐกิจ

ธุรกิจรถบรรทุก...โอกาสทองในลุ่มแม่น้ำโขง

ขณะที่การรวมตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC กำลังใกล้เข้ามา หนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่จะได้รับอานิสงส์คือธุรกิจรถบรรทุก โดยการเติบโตของการค้าข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็นแรงผลักดันสำคัญของธุรกิจนี้ เนื่องจากในปัจจุบันกว่า 85% ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียนเป็นการขนส่งโดยรถบรรทุก โดยคาดว่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนต่อการค้าทั้งหมดของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปัจจุบันเป็น 30% ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมด้านการค้าและการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว โดยเพียง 3 ประเทศดังกล่าวก็มีขนาดตลาดการขนส่งโดยรถบรรทุกรวมกันสูงถึงราว 4 แสนล้านบาทต่อปี และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตรวดเร็วอีกด้วย SCB SME นำเสนอโอกาสทองทางธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีหรือบริษัทต่างๆ ที่มีความสามารถสูงในการผลิตรถบรรทุกเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ 3 ตลาดนี้

ภาคการผลิตที่กำลังขยายตัว กอปรกับการกระจายตัวของประชากรของ “เมียนมาร์” ก่อให้เกิดความต้องการรถบรรทุกเพิ่มขึ้น อีไอซีคาดว่าความต้องการรถบรรทุกของเมียนมาร์จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากที่รัฐบาลและภาคเอกชนต่างมีแผนกระตุ้นการเติบโตของภาคการผลิตผ่านการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และทำให้มีโรงงานตั้งใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วมีโรงงานสิ่งทอตั้งใหม่ในเมียนมาร์อย่างน้องหนึ่งโรงงานต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการผลิตของเมียนมาร์จะโตเฉลี่ยสูงถึง 10% ต่อปีระหว่างปี 2010 ถึง 2030 ดังนั้น รถบรรทุกจะมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปยังเมืองหลวงอย่าง ย่างกุ้ง และเขตอื่นๆ ที่มีประชากรหนาแน่น อีกทั้งรถบรรทุกจะสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนและการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ปัจจุบันเมียนมาร์มีรถบรรทุกที่ให้บริการภายในประเทศเพียงประมาณ 70,000 คัน ทำให้ขนส่งสินค้าได้ในปริมาณและระยะทางที่จำกัด เมื่อเทียบกับไทยที่มีพื้นที่และประชากรใกล้เคียงกันแต่กลับมีจำนวนรถบรรทุกถึง 2 ล้านคัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เมียนมาร์จะต้องเพิ่มจำนวนรถบรรทุกเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


 

“กัมพูชา” ก็เช่นกัน ความต้องการเชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและท่าเรือส่งออกกระตุ้นให้เกิดความต้องการรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้า การเติบโตของภาคการส่งออกของกัมพูชาสูงถึง 17% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของภาคการผลิต โดยเฉพาะในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมพนมเปญและปอยเปตโอเนียงซึ่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก อีไอซีมองว่าการขยายตัวในภาคการผลิตดังกล่าวจะส่งผลให้มีความต้องการลำเลียงสินค้าทางรถบรรทุกไปยังท่าเรือส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันการขนส่งทางรถบรรทุกเป็นรูปแบบหลักที่ใช้ในการค้าภายในประเทศและข้ามพรมแดนของกัมพูชาอยู่แล้ว และรถบรรทุกยังช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าออกไปยังท่าเรือน้ำลึก เช่น ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาและท่าเรือแหลมฉบังของไทย จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตรถบรรทุกไทยที่จะเข้าไปเสนอขายรถบรรทุกใหม่ โดยเฉพาะรถบรรทุกตู้สินค้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชา

สภาพภูมิประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับทะเลของ “ลาว” บวกกับการเติบโตของการค้าข้ามพรมแดนของลาวไปยังไทยและเวียดนาม ทำให้การขนส่งทางรถบรรทุกเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง สภาพภูมิประเทศที่ไม่ติดทะเลของลาวทำให้ประเทศต้องยึดการขนส่งโดยรถบรรทุกเป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติจำพวกสินแร่และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการส่งออกสินค้าไปยังไทยและเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 20% จึงมีความต้องการรถบรรทุกสูงเพื่อใช้ในการค้าข้ามพรมแดน ยิ่งไปกว่านั้น ลาวมีรถบรรทุกที่ขึ้นทะเบียนอยู่เพียงประมาณ 6,500 คัน แต่มีเพียงหนึ่งในสามที่ผ่านมาตรฐานและสามารถให้บริการขนส่งได้จริง ดังนั้น ผู้ผลิตรถบรรทุกและชิ้นส่วนควรจะคว้าโอกาสจากช่องว่างดังกล่าวในการเสนอขายรถบรรทุกใหม่ รวมถึงบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถบรรทุกด้วย

link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products