ข่าวเศรษฐกิจ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ.ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ (2560-2580) เสร็จแล้ว และจะเร่งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำมาปรับปรุงร่างฯ ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561
สำหรับสาระสำคัญของร่าง PDP เมื่อสิ้นแผนประเทศจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 73,211 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นกำลังการผลิตใหม่ 51,415 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20,757 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจอเนอเรชัน 1,105 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,740 เมกะวัตต์ รวมถึงจะเปิดให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่หรือ IPP ที่จะให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกับ กฟผ. 8,300 เมกะวัตต์ หรือราว 10 แห่ง และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โดยไม่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจะยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักที่ 53% เนื่องจากสามารถนำเข้าก๊าซ LNG จากตลาดโลกในราคาถูกได้ ขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจะลดจากแผนเดิมที่ 20-25% ลงมาอยู่ที่ 12% และจะหันไปเพิ่มสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนที่ระดับ 20% และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านราว 9% เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อแผน PDP ฉบับใหม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว จะมีการบังคับใช้ไปเป็นเวลา 2 ปี (2562-2563) และหลังจากนั้นจะมีการทบทวนแผนใหม่ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (ฐานเศรษฐกิจ, 6-8 ธ.ค. 2561)