ข่าวเศรษฐกิจ
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ. มีความกังวลด้านความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าภาคใต้ที่มีความเสี่ยงจะไม่เพียงพอในปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟภาคใต้สูงสุด (พีก) เมื่อปี 2560 อยู่ที่ 2,642 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักคือจะนะและขนอมผลิตไฟฟ้าได้จริง 2,024 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 460 เมกะวัตต์ และผลิตจากเขื่อน ชีวมวล และลม 140 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าภาคใต้เติบโตเฉลี่ย 3.4% ทุกปี และพีกไฟฟ้าของภาคใต้เกิดมากสุดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งตามหลักการแล้วภาคใต้ควรจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า รวมการสำรองไฟฟ้าในกรณีโรงใดโรงหนึ่งหยุดซ่อมบำรุง 3,500 เมกะวัตต์ ดังนั้น เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาต้องชะลอออกไป และการขยายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 เควี จาก จ.ราชบุรีไป จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา เพื่อดึงกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ราว 700 เมกะวัตต์ ก็ล่าช้าจากเดิมที่จะเสร็จสิ้นในปี 2562 เป็นสร้างเสร็จปี 2563 และไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 ภาคใต้จึงอาจต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่ขนาด 700-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมว่าจะตั้งโรงไฟฟ้าใน จ.สุราษฎร์ธานี หรือขยายกำลังการผลิตที่โรงไฟฟ้าขนอม คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซแห่งนี้ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2558-2579 (PDP 2015) จึงต้องนำเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นชอบบรรจุในแผน PDP ฉบับใหม่ หรือขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ทันรับมือกับวิกฤติไฟฟ้าภาคใต้ที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 แต่หากไม่มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้คือการขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจและโพสต์ทูเดย์, 23 เม.ย. 2561)