ข่าวเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 อินโดนีเซียยื่นฟ้อง EU ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการ เพื่อคัดค้านข้อบังคับการใช้พลังงานหมุนเวียน ฉบับปรับปรุงปี 2561 (RED II) ของ EU ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกยุติการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อพื้นที่สะสมคาร์บอน (Indirect land-use Change; ILUC) ภายในปี 2673 (เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "มาตรการ Zero Palm Oil") หลังจาก EU มีมติในเดือนมีนาคม 2562 กำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อพื้นที่สะสมคาร์บอน โดยอินโดนีเซียอ้างว่ามาตรการดังกล่าวของ EU เป็นมาตรการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม เนื่องจากได้จำกัดการเข้าถึงตลาด (market access) น้ำมันปาล์มและน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มไป EU ได้ลดลง ทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มเสียหายในเวทีการค้าโลก ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 EU เพิ่งเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันไบโอดีเซลจากอินโดนีเซียเป็นระยะเวลา 5 ปี มาอยู่ที่อัตราร้อยละ 8-18 ด้วยข้อกล่าวหาว่าผู้ผลิตในอินโดนีเซียได้รับการอุดหนุน ทั้งเงินช่วยเหลือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการเข้าถึงวัตถุดิบที่ราคาต่ำกว่าตลาด (www.bloomberg.com, 15 ธ.ค. 2562, www.bangkokbiznews.com และ www.thejakartapost.com, 16 ธ.ค. 2562)