ข่าวเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์สินค้าเกษตรที่ราคาในเดือนกันยายน 2563 มีแนวโน้มปรับขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ได้แก่
- ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เพิ่มขึ้น 1.16-3.97% เนื่องจากตลาดโลกขาดแคลนข้าวระดับคุณภาพ 5% หลังจากที่จีนประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง ขณะที่อินเดียประสบปัญหาน้ำท่วมและการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) รุนแรงที่สุดในทวีปเอเชีย ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งข้าวเพื่อส่งออก อีกทั้งเวียดนามประสบปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอก 2 จึงเกิดการกักตุนข้าวในประเทศ
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 0.32-1.05% เนื่องจากฝนตกหนักในแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คาดว่าผลผลิตจะลดลง
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% เพิ่มขึ้น 1.00-1.50% เนื่องจากมีฝนตกชุกต่อเนื่อง เกษตรกรจึงชะลอการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
- ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 เพิ่มขึ้น 0.36-2.18% เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จึงส่งผลดีต่อความต้องการใช้ยางพารา อีกทั้งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
- มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 0.58-3.49% เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม การที่ฝนตกชุกและบางพื้นที่การผลิตประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพแป้งในหัวมันสด และอาจทำให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง
- สุกร เพิ่มขึ้น 0.64-2.17% เนื่องจากประเทศที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) อาทิ จีน และเวียดนาม นำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 เท่า (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 1 ก.ย. 2563)