ข่าวเศรษฐกิจ
บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ตั้งขึ้นเพื่อขยายไปสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เปิดเผยว่านโยบายธุรกิจ EV ของบริษัทแม่แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
-การผลิต EV ในไทย : ในเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทฯ จะตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) กับ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน เพื่อเตรียมตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มชิ้นส่วนสำคัญของ EV รวมถึงโรงงานประกอบ EV ในไทย โดยบริษัทฯ จะถือหุ้น 60% และ Foxconn ถือหุ้น 40% ด้วยงบลงทุนรวมกัน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะก่อสร้างโรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจะเริ่มผลิต EV จากโรงงานผลิตแพลตฟอร์มดังกล่าวภายในปี 2566 (โมเดลธุรกิจเป็นแบบ OEM หรือการผลิต EV ป้อนให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเน้นค่ายรถยนต์จีนและสหรัฐฯ) โดยในระยะแรกโรงงานจะมีกำลังการผลิตปีละ 30,000 คัน จากนั้นจะทยอยปรับเพิ่มจนมีกำลังการผลิตปีละ 120,000 คัน ในปี 2573 เทียบกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยมีการผลิต EV 30% หรือคิดเป็นจำนวนราว 725,00 คัน (หากนับเฉพาะรถยนต์และรถปิกอัพ) ในปี 2573 ส่งผลให้ PTT จะกลายเป็นผู้ผลิต EV รายใหญ่ในไทยด้วย
-การส่งเสริมการใช้ EV ในไทย : ล่าสุดบริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EV ME PLUS) เพื่อเตรียมให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลชื่อ "EVme" สำหรับสร้าง Ecosystem ด้าน EV ในไทย อาทิ การให้บริการเช่าขับ EV เป็นช่วงเวลา การแสดงจุดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงบริการต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเป็น Pain Point และทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อ EV ทั้งนี้ ปัจจุบันแพลตฟอร์ม EVme อยู่ระหว่างทดลองให้บริการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565 โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีทั้งกลุ่ม B2C และ B2B (ประชาชาติธุรกิจ, 30 ส.ค.-1 ก.ย. 2564)