Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ใน EU ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563
- การแพร่ระบาดเป็นปัจจัยบั่นท่อนเศรษฐกิจ EU โดยจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการท่องเที่ยว
- EIU ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ EU ปี 2563 เป็นหดตัว 1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.2 %
- สินค้าส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น คือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้าอาหารกระป๋องอาจได้อานิสงส์จากการกักตุนอาหารของชาว EU
- นักท่องเที่ยวยุโรปมีแนวโน้มเดินทางมาเที่ยวไทยลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน ธุรกิจนำเที่ยว ตลอดจนร้านอาหารและร้านค้าปลีก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสหภาพยุโรป (EU) ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากพบผู้ติดเชื้อในแคว้นทางภาคเหนือของอิตาลีและการแพร่ระบาดได้ลุกลามครอบคลุมทุกประเทศใน EU โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมใน EU ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นราว 180,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในอิตาลีเกือบ 64,000 คน หรือ 36% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดใน EU ซึ่งการแพร่ระบาดที่รุนแรงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ EU เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 แห่งใหม่ของโลกต่อจากจีนที่ปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ
ผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจ EU
การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU อย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุด Economist Intelligence Unit (EIU) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของ EU ในปี 2563 เป็นหดตัว 0.1% จากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 1.2% แต่ยังคงคาดการณ์การขยายตัว
ทางเศรษฐกิจในปี 2564 ไว้ที่ 1.7% ทั้งนี้ ฝ่ายวิจ้ยธุรกิจประเมินผลกระทบของ COVID-19
ต่อภาคเศรษฐกิจสำคัญของ EU ดังนี้
- ภาคการผลิต การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกทำให้เกิด Supply Shock เป็นวงกว้าง กดดันภาคการผลิตใน EU ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการกระจายการผลิตค่อนข้างสูง โดยการที่หลายประเทศสั่งให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ นอกจากส่งผลโดยตรงให้ EU ต้องลดกำลังการผลิตในประเทศแล้ว ยังถูกกระทบจากการชะลอการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการผลิตสินค้าขั้นปลาย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน EU (สัดส่วนราว 7% ของ GDP) และมีการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อาทิ จีน และญี่ปุ่น ในระดับสูง จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง
- ภาคการค้า คาดว่า EU จะประสบปัญหา Demand Shock เนื่องจากเศรษฐกิจของ EU
ที่เปราะบางย่อมกระทบความเชื่อมั่นในการจับจ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีความสำคัญถึง 3% ของ GDP ในปี 2562 - ภาคการท่องเที่ยว การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงมาตรการกักกันและ
ปิดพรมแดนของหลายประเทศ จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องใน EU ซบเซาลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ EU เอง รวมถึง
ชาวอเมริกันและชาวจีนซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวรายใหญ่อันดับต้นๆ ของ EU ชะลอ
การเดินทางมา EU โดยเบื้องต้นคาดว่า EU จะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1 พันล้านยูโรต่อเดือน สำหรับอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากที่สุด คาดว่าจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวราว 5 พันล้านยูโร ในปี 2563
มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ใน EU
- มาตรการควบคุมการติดเชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศสมาชิก EU หลายประเทศ อาทิ อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก โปแลนด์สเปน สโลวาเกีย นอร์เวย์ ลิทัวเนีย และฝรั่งเศส สั่งปิดประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ
เชื้อไวรัสดังกล่าว ขณะที่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะมนตรียุโรป (European Council)
มีมติให้ปิดพรมแดน EU เป็นเวลา 30 วัน โดยห้ามพลเมืองของ EU และชาวต่างชาติ
เดินทางเข้าออกประเทศโดยไม่มีความจำเป็น ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม
การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก EU ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ - มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) อนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) มูลค่า 5 แสนล้านยูโร เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของเอกชนในกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงการดำเนินมาตรการรีไฟแนนซ์ระยะยาว (Targeted Longer-term Refinancing Operations : TLTROs) รอบใหม่ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบและสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ริเริ่มโครงการ Coronavirus Response Investment Initiative มูลค่า 3.7 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบสาธารณสุขและการจ้างงานใน EU ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศได้ทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 อาทิ
- อิตาลี : ประกาศแผนงบประมาณวงเงิน 5 หมื่นล้านยูโร เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุข และการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการให้ภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อและขยายเวลาชำระคืนเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลอิตาลีเพิ่มรายจ่ายภาครัฐอาจส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของอิตาลีในปี 2563 เพิ่มขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ที่ EU กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 3% ต่อ GDP จากยอดขาดดุลงบประมาณของอิตาลีในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.2% ต่อ GDP นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังอาจทำให้หนี้สาธารณะของอิตาลีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 140% ต่อ GDP ในปี 2563 จาก 135% ในปี 2562
- เยอรมนี : รัฐบาลเยอรมนีสั่งการให้ธนาคาร KfW ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในโครงการ KfW Financing Program วงเงินรวม 5 แสนล้านยูโร
- สเปน : ออกมาตรการวงเงินรวม 2 แสนล้านยูโร โดยเป็นการสนับสนุนด้านสินเชื่อ
การค้ำประกันเงินกู้ การให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง และ
การลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs รวมถึงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข - ฝรั่งเศส : ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร โดยจะเป็น
การช่วยเหลือด้านภาษีแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการจ้างงาน นอกจากนี้
ยังเตรียมออกมาตรการค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 3 แสนล้านยูโร เพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือบริษัทที่จะล้มละลายด้วยการควบรวมกิจการกับภาครัฐ
ผลกระทบต่อไทย
- ภาคการส่งออก
- การส่งออกสินค้าของไทยโดยรวมไป EU มีแนวโน้มหดตัวในปี 2563 สังเกตได้จากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เศรษฐกิจของ EU หดตัว ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2552 (GDP
-2%) และ ในปี 2555 (GDP -0.4%) ล้วนกระทบต่อการส่งออกของไทยไป EU ดังนั้น การส่งออกของไทยไป EU ในปีนี้ จึงมีโอกาสสูงที่จะติดลบ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ตั้งแต่คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน รถยนต์และชิ้นส่วน ไปจนถึงอัญมณีและเครื่องประดับ
ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก 3 อันดับแรกของไทยไป EU เนื่องจากคาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลงจากการหยุดงานและตกงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- การส่งออกสินค้าของไทยโดยรวมไป EU มีแนวโน้มหดตัวในปี 2563 สังเกตได้จากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เศรษฐกิจของ EU หดตัว ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2552 (GDP
- สินค้าจำเป็นกลุ่มอาหารของไทยไป EU บางรายการอาจขยายตัว โดยไก่แปรรูป (สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปตลาด EU) อาจได้อานิสงส์จากการเร่งสั่งสินค้าในระยะสั้น เนื่องจากผู้บริโภค EU ส่วนหนึ่งต้องกักตุนอาหารภายใต้มาตรการปิดเมือง/ประเทศ ขณะที่สินค้าอาหารประเภทกระป๋องของไทย อาทิ ข้าวโพดกระป๋อง มีแนวโน้มได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ง่ายต่อการกักตุนและใช้บริโภคภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
- ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยุโรปถือเป็นหนึ่งในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญของไทย โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางมาไทยจำนวน 8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 18% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย สร้างรายได้ราว 4.7 แสนล้านบาท
ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปชะลอการเดินทางมาไทยจนกว่าสถานการณ์ทั้งในไทยและในยุโรปจะดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
ที่เกี่ยวเนื่องในไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน ธุรกิจ
นำเที่ยว ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีก
ที่เกี่ยวข้อง