Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้
- ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะมีแนวทางปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะการเดินหน้าสงครามการค้ากับจีน การดำเนินนโยบาย Buy America ที่มุ่งลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จากจีน
- นโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อภาคส่งออกไทย ขณะที่ในระยะข้างหน้าสินค้าส่งออกของไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม หากสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม CPTPP อีกทั้งอาจต้องเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
- ผู้ประกอบการไทยควรเร่งหาช่องทางในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก CPTPP
- เงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการดำเนินมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะเพิ่มความมั่นใจในการทำการค้าระหว่างประเทศ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 และได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้งทันทีด้วยการลงนามคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) จำนวน 15 ฉบับ โดยส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกนโยบายในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การยกเลิกคำสั่งห้ามชาวมุสลิมจากบางประเทศเข้าสหรัฐฯ และการระงับการสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก ซึ่งสะท้อนทิศทางของบางนโยบายที่ตรงกันข้ามกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีไบเดนยังได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นในด้านนโยบายการค้า โดยเฉพาะกรณีสงครามการค้าและท่าทีกับจีน ทั้งนี้ แนวนโยบายที่มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับและกำลังนำไปสู่การดำเนินมาตรการในทางปฏิบัติทั้งด้านการค้า การลงทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ นับเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อบริบทของโลก รวมถึงไทยในหลายด้าน
แนวนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีไบเดน
- ด้านการค้า : ยังมีแนวทางปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ดังนี้
- การเดินหน้าสงครามการค้ากับจีน ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่ายังไม่มีแผนยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าจากจีนภายใต้สงครามการค้าที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือภายใต้กติกาการค้าโลกของ WTO ทั้งการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (CVD) เพื่อเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติม ตลอดจนใช้รูปแบบการเจรจารวมกลุ่มทางการค้าแบบพหุภาคี ทั้งการกลับสู่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และเริ่มการจัดทำ FTA ใหม่ เพื่อแสวงหาพันธมิตรในเวทีการค้าโลกในการกดดันให้จีนปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับสากลและมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังมีแนวโน้มเข้มงวดกับจีนในการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมทั้งกีดกันเทคโนโลยีจากจีนในการเจาะตลาดสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมัยประธานาธิบดีทรัมป์
- นโยบาย Buy America ซึ่งเน้นลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน พร้อมทั้งส่งเสริมภาคการผลิตและการลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยสหรัฐฯ เตรียมประกาศรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะกำหนดให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศและจะมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้บริษัทสหรัฐฯ ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ - ด้านการลงทุน : เน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน
แนวนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดและธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี 5G โดยได้ตั้งเป้าวงเงินลงทุนราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์ 500 ล้านหน่วยและสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 5 แสนแห่งทั่วสหรัฐฯ รวมทั้งการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 100% ภายในปี 2578 - ด้านสิ่งแวดล้อม : ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งผู้บริหารเพื่อดำเนินการนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ควบคู่ไปกับการเน้นย้ำทิศทางการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการการบังคับใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการพิจารณาเก็บภาษี Carbon Tax กับสินค้านำเข้า
- ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : นำสหรัฐฯ กลับสู่เวทีโลกอีกครั้งประธานาธิบดีไบเดนมุ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติและกลับมาเข้าร่วมโต๊ะเจรจาต่างๆ บนเวทีโลกอีกครั้ง สังเกตได้จากการนำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นสมาชิก WHO และสมาชิกความตกลงปารีส แสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ จะกลับมาอยู่บนเวทีการเจรจาสากลเป็นหลัก ซึ่งต่างจากสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สหรัฐฯ มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวผ่านการเจรจาหรือกดดันโดยตรงกับประเทศคู่กรณี
- ด้านการบริหารประเทศภายใต้วิกฤต COVID-19
ในช่วงปีแรกของการบริหารงานคาดว่าประธานาธิบดีไบเดนจะมุ่งเน้นนโยบายใน
การจัดการปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 เป็นหลัก โดยเฉพาะ
การฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านการผลักดันแผน American Rescue Plan ซึ่งเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่มูลค่าราว 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการจ่ายเงินเยียวยาโดยตรงแก่ชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบ การเพิ่มเงินสวัสดิการผู้ว่างงาน ตลอดจนเงินช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเร่งออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกราว 24.5 ล้านคน ขณะที่คาดว่าประธานาธิบดีไบเดนจะยังชะลอการดำเนินมาตรการปรับขึ้นภาษีตามที่หาเสียงไว้ออกไปก่อน ทั้งการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 28% จาก 21% และขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตราสูงสุดเป็น 39.6% จาก 37% โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าวเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีการขึ้นภาษีดังกล่าวในระยะถัดไปจะส่งผลให้บริษัทในสหรัฐฯ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายการเสนอขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ จากชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ ก็มีแนวโน้มทำให้บริษัทในสหรัฐฯ กระจายฐานการลงทุนออกนอกประเทศเพื่อลดต้นทุน
ถอดแนวนโยบายเพื่อไขผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย
ฝ่ายวิจัยธุรกิจคาดว่าแนวนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของไทย ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ นอกเหนือจากการที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหรือแสวงหาโอกาสที่จะได้รับภายใต้การเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขณะที่ในระยะสั้น สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน คือ การค้าขายระหว่างประเทศจะถูกกดดันจากความผันผวนของค่าเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ อย่างรอบด้านเพื่อประคับประคองธุรกิจและรอวันที่ตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเร่งหาช่องทางในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก CPTPP อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และอาหารทะเล ในเวียดนาม เพื่อแสวงหาโอกาสจากที่สหรัฐฯ จะกลับเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในอนาคต รวมถึงการสร้างเครือข่าย Supply Chain กับประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ พุ่งเป้าจะกลับมาเป็นพันธมิตรอีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศในเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน)
ที่เกี่ยวข้อง