เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เมียนมามีความพยายามในการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมียนมาปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ อาทิ Investment Law, Company Law, Retail and Wholesale Law, Condominium Law และ Financial Institutions Law สำหรับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินอย่าง Financial Institutions Law นั้น ได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ซึ่งต่อมาก็มีการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ เพื่อทยอยปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่กฎระเบียบสำหรับสาขาธนาคารต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญในเมียนมา โดยในปี 2561 มีการปรับปรุงกฎระเบียบสำคัญสำหรับสาขาธนาคารต่างชาติ ดังนี้
- การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้เงินกู้กับบริษัทท้องถิ่น ภายใต้ Directive No.6/2018 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยธนาคารกลางเมียนมา (CBM) อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Wholesale Banking ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้แก่บริษัทท้องถิ่นทั้งในสกุลเงินจ๊าตและสกุลเงินต่างประเทศ ตลอดจนสามารถให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade Financing) ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมส่งออกและนำเข้า เช่นเดียวกับธนาคารท้องถิ่น จากเดิมที่สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้เงินกู้แก่บริษัทต่างชาติในสกุลเงินต่างประเทศได้เท่านั้น ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการอนุญาตดังกล่าวไม่เพียงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทท้องถิ่น แต่ยังทำให้บริการทางการเงินในตลาดหลากหลายขึ้น เนื่องจากสาขาของธนาคารต่างชาติมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมกว่าธนาคารท้องถิ่นเมียนมา โดยเฉพาะบริการด้าน Trade Financing
- การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศได้เอง นอกจากการอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติให้เงินกู้สกุลเงินจ๊าตและสกุลเงินต่างประเทศกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศแล้ว ธนาคารกลางเมียนมายังอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศได้เอง แต่มีเงื่อนไขว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยธนาคารกลางเมียนมาไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศสูงสุดไว้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินจ๊าตต้องเป็นไปตามที่ธนาคารกลางเมียนมากำหนด กล่าวคือ สูงสุดไม่เกิน 13% ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นปล่อยกู้
- การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาในเมียนมาเพิ่มขึ้น ภายใต้การปฏิรูปภาคธนาคาร ธนาคารกลางเมียนมาเตรียมอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติรายใหม่เข้ามาเปิดสาขาในเมียนมาได้เพิ่มขึ้นในปี 2562 รวมถึงเตรียมอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในเมืองย่างกุ้งแล้วสามารถยื่นขอเปิดสาขาเพิ่มเติมในเมียนมา จากเดิมที่ธนาคารต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางเมียนมาสามารถเปิดสาขาได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางเมียนมาในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารกลางเมียนมาค่อนข้างเข้มงวดกับการเข้ามาเปิดสาขาของธนาคารต่างชาติ เนื่องจากต้องการปกป้องการดำเนินธุรกิจของธนาคารท้องถิ่น แต่ปัจจุบันธนาคารกลางเมียนมาเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ลงตามแผนปฏิรูปภาคธนาคารเพื่อยกระดับภาคธนาคารให้แข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าสาขาของธนาคารต่างชาติจะให้บริการทางการเงินกับบริษัทท้องถิ่นได้ใกล้เคียงกับธนาคารท้องถิ่นมากขึ้น แต่ธนาคารกลางเมียนมายังไม่อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Retail Banking ในเมียนมา รวมทั้งไม่อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติรับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเงื่อนไขในกรณีหลังทำให้สาขาของธนาคารต่างชาติยังคงรุกขยายการให้บริการทางการเงินอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคธนาคารของเมียนมาที่กล่าวมาข้างต้นคาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจท้องถิ่นของเมียนมาเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้นและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจท้องถิ่นในระยะยาว ขณะเดียวกัน การปฏิรูปภาคธนาคารจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันในภาคธนาคารของประเทศ ทำให้สถาบันการเงินท้องถิ่นมีการพัฒนาและปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารต่างชาติได้ อันจะส่งผลดีต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธนาคารของเมียนมาทั้งระบบ
ที่เกี่ยวข้อง
-
รู้จักภาษีการค้าเมียนมาผ่าน Union Tax Law 2019 ฉบับปรับปรุง
เมียนมายังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีการเก็บภาษีการค้า (Commercial Tax) กับสินค้าและบริการในประเทศ ผู้ประกอบการที่เข้าไปค้าขายหรือลงทุนในเมียนมาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจระบบภาษีดังกล่าว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ ...
30.12.2019 -
เตรียมความพร้อมก่อนเมียนมาบังคับใช้กฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่
กฎหมายเครื่องหมายการค้า (Trademark Law) เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจ หากคิดจะดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยผู้ประกอบการลดความเสี่ย...
01.11.2019
-
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนา...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019