เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
Fintech ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินและจ่ายเงินค่าสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน การทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ และการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก Fintech อาทิ การระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่าง Crowdfunding การนำ Blockchain เข้ามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการเงิน ไปจนถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ดังนั้น การพัฒนา Fintech ในแต่ละประเทศจึงมีบทบาทช่วยผลักดันการพัฒนาของภาคการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภค การค้า และการลงทุน โดยแนวโน้ม Fintech ที่น่าจับตามอง ไปจนถึงประเด็นสำคัญ มีดังนี้
การพัฒนา Fintech ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินเช่นในอดีต
ปัจจุบันการพัฒนา Fintech ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่มีต้นทุนที่ต่ำลงและเปิดโอกาสให้เกิดบริษัท Startup ด้าน Fintech ได้ง่ายขึ้น โดยหากพิจารณาประเทศที่เป็นผู้นำด้าน Fintech ของโลก จะพบว่าแม้ประเทศผู้นำ 3 อันดับแรก จะยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ แต่ประเทศลำดับอื่นกลับไม่ใช่ศูนย์กลางทางการเงินหลักของโลก โดยประเทศที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ ประเทศขนาดเล็กในยุโรปอย่างลิทัวเนียและเอสโตเนียที่มีประชากรเพียง 2.8 ล้านคน และ 1.3 ล้านคน ตามลำดับ โดยกฎระเบียบที่เอื้อต่อการจัดตั้งบริษัท Startup ด้านเทคโนโลยีและด้านการเงิน และการเป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันแพร่หลาย ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ปัจจุบันเอสโตเนียเป็นสังคมไร้เงินสดจากการที่ธุรกรรมทางการเงินราว 99% อยู่ในระบบดิจิทัล ขณะที่ลิทัวเนียเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการออกเหรียญดิจิทัล (LBCoin) เมื่อเดือนสิงหาคม 2563
นอกจากนี้ อินเดียถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองด้าน Fintech เนื่องจากหากพิจารณาเมืองที่มีความสำคัญด้าน Fintech จะพบว่าเมืองบังคาลอร์และเมืองมุมไบของอินเดียติดอยู่ใน 10 อันดับเมืองสำคัญด้าน Fintech ของโลก แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของอินเดียในการเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญของโลก โดยปัจจุบันมี Startup ด้าน Fintech ของอินเดียหลายรายที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นบริษัท Unicorn อาทิ BillDesk (Online Bill Payment) ONE97 (Mobile Marketplace) และ Policybazaar (Online Insurance)
FINTECH มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ในโลกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลอมรวมเข้ากับโลกยุคดิจิทัลเช่นในปัจจุบัน บริษัท Fintech จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ภาคการเงินยังพัฒนาไม่มากนัก โดยบทบาทสำคัญของ Fintech ต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว มีดังนี้
- Fintech ช่วยปิดช่องว่างของภาคการเงินในประเทศกำลังพัฒนา จากการที่ประชาชนในหลายประเทศมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ การเปิดบัญชีธนาคาร การโอนเงิน และการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากการขยายการให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมที่เน้นขยายสาขาของธนาคารมีต้นทุนที่สูง ดังนั้น เมื่อ Fintech สามารถใช้ Smartphone เป็นตัวกลางในการให้บริการร่วมกับการพัฒนาแอปพลิเคชันทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะ E-Wallet ทำให้ต้นทุนการขยายบริการทางการเงินลดต่ำลงอย่างมาก และส่งผลให้อัตราการใช้ Smartphone ของประชากร ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในเกือบทุกประเทศทั่วโลก กลายเป็นดัชนีชี้วัดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรในแต่ละประเทศ
- ความสะดวกของการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันทางการเงินมีส่วนทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน E-Commerce ที่นอกจากแพลตฟอร์ม E-Commerce มักจะมีกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย และเร่งเร้าให้ผู้บริโภคต้องตัดสินใจซื้อสินค้ารวดเร็วแล้ว แพลตฟอร์ม E-Commerce ยังมีข้อมูลผู้ซื้อจำนวนมากและสามารถนำตัวเลือกสินค้ามาแสดงได้ตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหา ขณะที่การซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านทั่วไปก็ได้ประโยชน์จากความสะดวกในการจ่ายเงินผ่าน QR Code ไปจนถึงการได้ส่วนลดหรือการสะสมแต้มผ่านการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ
-
แอปพลิเคชันทางการเงินกลายเป็นช่องทางอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายประเทศในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยที่ใช้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ถือเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด ขณะที่กรณีของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา พบว่าแอปพลิเคชันโอนเงินดิจิทัล Wave Money ได้อานิสงส์จากโครงการเงินช่วยเหลือรายได้สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยส่วนหนึ่งใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวสำหรับการโอนเงินไปยังแรงงานในพื้นที่ชนบท
FINTECH กำลังกลายเป็นกลไกพัฒนาการค้าระหว่างประเทศรูปแบบใหม่
ปัจจุบันเทคโนโลยี Fintech กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกและนำเข้าของไทยต้องติดตาม ดังนี้
- ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศสมัยใหม่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain หรือ Cryptocurrency มาใช้พัฒนาระบบดังกล่าว ตัวอย่างเช่นบริษัท Ripple ที่ใช้ Blockchain พัฒนาระบบการโอนเงินแบบ Real Time ระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินกว่า 300 แห่งทั่วโลก รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ของไทย ร่วมมือกับ Ripple ในการขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยระบบดังกล่าว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนา Fintech ด้านการโอนเงินระหว่างประเทศกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเข้ามาทดแทนระบบโอนเงินระหว่างประเทศดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่าง SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunications) ซึ่งที่ผ่านมา SWIFT มีการใช้งานจากกว่า 11,000 สถาบันการเงิน ใน 212 ประเทศทั่วโลก ด้วยจุดเด่นด้านความปลอดภัยจนเป็นที่ยอมรับ แต่จุดอ่อนของ SWIFT คือ การโอนเงินยังต้องใช้เวลาราว 2-3 วัน ทำให้ SWIFT กำลังถูกท้าทายจาก Fintech ที่สามารถนำเสนอบริการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีความรวดเร็วกว่าและมีความปลอดภัยไม่แพ้กันแม้ระยะเวลาในการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือจะยังสั้นกว่าระบบเดิมก็ตาม
- เทคโนโลยี Blockchain ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการรับส่งเอกสารการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศซึ่งมีหลายขั้นตอน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิ ผู้ซื้อ ธนาคารผู้ซื้อ ผู้ขาย ธนาคารผู้ขาย และสายการเดินเรือ จนก่อให้เกิดความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดในการรับและส่งเอกสาร ตลอดจนใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น เมื่อเกิดเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมีจุดเด่นด้านความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน จึงทำให้เกิด Fintech ที่ให้บริการรับส่งเอกสารการค้า อาทิ L/C (Letter of Credit) และ B/L (Bill of Lading) แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะทำให้ขั้นตอนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไปในอนาคต
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า Fintech กำลังมีส่วนเปลี่ยนรูปแบบการทำการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ไปจนถึงสถาบันการเงิน ต่างต้องปรับตัวให้ทันเพื่อไม่ให้ตกยุคการค้ารูปแบบใหม่ในอนาคต ขณะเดียวกันในมุมของนักลงทุนที่ต้องการเจาะตลาดต่างประเทศ ก็ต้องทำความเข้าใจกับบทบาทของ Fintech ในแต่ละประเทศที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจด้วยการร่วมมือกับ Fintech เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้เข้าถึงตลาดผู้บริโภคต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนา...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019