เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

จับสัญญาณเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนทิศกับประเด็นที่ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือ

ปัจจุบันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีภาพที่ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6% ซึ่งนอกจากได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจจีนที่จะกลับมาขยายตัวอย่างร้อนแรงที่ระดับ 8.4% แล้ว ยังมีการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ทำได้เป็นวงกว้าง ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วและแรงถึง 6.4% ก็ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การเปลี่ยนเกียร์เศรษฐกิจโลกเพื่อเร่งเครื่องออกจากภาวะชะงักงันในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการที่หลายประเทศทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยิ่งทำให้ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องจับตามองและเตรียมพร้อมรับมือ ดังนี้

ต้นทุนวัตถุดิบของผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • ดัชนีราคานำเข้าของไทยมีสัญญาณการเร่งตัวขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 5.7% (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นราว 20% ขณะที่หมวดวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 4.9% และหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้น 2% โดยต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
  • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาน้ำมันมีทิศทางปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนโดยรวมของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นยังซ้ำเติมสถานการณ์ค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง หลังจากได้ปรับขึ้นมาแล้วราว 3-5 เท่าในปัจจุบัน จากผลกระทบของภาวะขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ต้นทุนในการกู้ยืมหรือระดมทุนมีแนวโน้มขาขึ้น

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปีที่กว่า 1.7% ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 และคาดกันว่าจะปรับเพิ่มเป็นกว่า 2% ภายในปี 2564 ซึ่งเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 จึงเห็นสัญญาณการปรับขึ้นของต้นทุนในการกู้ยืมและระดมทุน ดังนี้

  • ปี 2564 : ต้นทุนในการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทย โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ได้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% ใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นการปรับตัวตามตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในระยะข้างหน้า
  • ปี 2565 : อัตราดอกเบี้ยเริ่มมีทิศทางขาขึ้น แม้ว่าในปี 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในทิศทางขาขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ของหลายประเทศยังเห็นความสำคัญของการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทำให้คาดกันว่าเมื่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในปี 2565 ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย น่าจะเริ่มทยอยปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยในทิศทางขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนรุนแรงขึ้น

ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มผันผวนรุนแรงขึ้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  • ระยะสั้น : เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับเข้าสหรัฐฯ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การกระจายวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นตลาดการเงินที่น่าลงทุนเมื่อเทียบกับตลาดประเทศอื่นๆ ที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และจูงใจให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับเข้าสหรัฐฯ ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้เงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า โดยในเดือนมีนาคม 2564 เงินบาทได้อ่อนค่าลงราว 3% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
  • ระยะกลาง-ยาว : การลงทุนเพื่อถือสินทรัพย์เสี่ยงอาจกลับมาเนื้อหอมอีกครั้ง ในระยะถัดไปหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับมาดำเนินธุรกรรมได้ตามปกติ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐและหันมาเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงแทน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หากขยายตัวร้อนแรงเกินไปก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ FED ลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก

กลยุทธ์การรับมือของผู้ประกอบการ

แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีน จะสร้างโอกาสส่งออกแก่ธุรกิจไทย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนส่งผลกระทบทางลบจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งแม้ความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบได้

  • การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเสถียรภาพของรายได้ ไม่ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนและสายป่านค่อนข้างจำกัด ทำให้การขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจได้ ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่สำคัญ มีดังนี้  

  • การบริหารจัดการด้านต้นทุน เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ การลดสต็อกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เหลือในคลังสินค้าให้น้อยที่สุด เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าคงคลัง รวมถึงต้นทุนการเงินจากการแบกรับสต็อกมากกว่าที่ต้องการใช้ในการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs อาจเริ่มต้นด้วยการจัดทำระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานเพื่อจำแนกต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบต้นทุนของธุรกิจที่แน่นอน ก่อนจะหาแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนในส่วนต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นควรพิจารณาเลือกใช้กับเฉพาะตลาดส่งออกที่มีทิศทางฟื้นตัวดี เช่น สหรัฐฯ และจีน ขณะที่ตลาดอื่น อาทิ CLMV อาจยังไม่พร้อมรับกับการปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องตรึงราคาที่ระดับเดิมหรือปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้

 

Most Viewed
more icon
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม

    ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนา...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products