เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

เตรียมพร้อมธุรกิจอย่างไรเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของโลก สังเกตได้จากการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ  ตลอดจนภาคธุรกิจต่างพยายามหาทางลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกระแสดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปในหลายภาคส่วนหนึ่งในนั้นคือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักอย่าง EU และสหรัฐฯ แสดงความสนใจที่จะนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจมาตรการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระแสสิ่งแวดล้อมจะเป็นทั้งตัวขับเคลื่อนภาคธุรกิจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในระยะข้างหน้า โดยขั้นตอนการเตรียมธุรกิจเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนมาตรการคาร์บอนที่ต้องเตรียมรับมือในอนาคต มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ขั้นตอนเตรียมความพร้อมสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ

  1. ประเมินการปล่อยคาร์บอนด้วยการจัดทำ Carbon Footprint : ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ว่าธุรกิจของตนมีการปล่อยคาร์บอนเป็นปริมาณเท่าไหร่หรือที่เรียกว่าการทำ Carbon Footprint ซึ่งมีทั้งการทำ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ หมายถึงปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของตันคาร์บอนไดออกไซด์ และ Carbon Footprint ขององค์กร หมายถึงปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง โดยวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เช่นเดียวกัน สำหรับประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint นอกจากจะทำให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์หรือองค์กรเพื่อนำไปใช้กำหนดเป้าหมายการลดคาร์บอนในอนาคต ประเทศผู้นำเข้าสินค้าบางประเทศ อาทิ EU และสหราชอาณาจักร ยังบังคับให้สินค้านำเข้าบางรายการต้องมีการติดฉลาก Carbon Footprint อีกด้วย
  2. ดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอน : เมื่อทราบปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงานของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนภายในกระบวนการผลิตสินค้าหรือกระบวนการทำงานขององค์กร อาทิ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา การประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ และการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกระบวนการขนส่ง
    เป็นต้น 
  3. การชดเชยคาร์บอน : สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ทั้งหมด ลำดับถัดมาคือการชดเชยคาร์บอนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยในกรณีที่สามารถชดเชยคาร์บอนได้บางส่วนและยังคงเหลือปริมาณการปล่อยคาร์บอนอยู่ส่วนหนึ่ง เรียกว่า “Carbon Offset” ส่วนกรณีที่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด เรียกว่า “Carbon Neutral”

ทำความรู้จักตลาดคาร์บอน ... กลไกสำคัญในการชดเชยคาร์บอน

ตลาดคาร์บอนเป็นตลาดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอน หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือในบางกรณีเรียกว่าใบอนุญาต (Allowance) โดยเปิดโอกาสให้องค์กรที่ไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้พัฒนาโครงการลดคาร์บอน หรือจากองค์กรอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเป้าหมาย และนำสิทธิ์การปล่อยส่วนที่เหลือมาขายในตลาด เพื่อนำมาชดเชยปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ซื้อไม่สามารถลดได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นในประเทศที่ภาครัฐมีการกำหนดปริมาณคาร์บอนที่ภาคธุรกิจสามารถปล่อยได้ โดยเปิดโอกาสให้มีการชดเชยคาร์บอนด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านตลาดดังกล่าว หรือที่เรียกว่าหลักการ Cap-and-Trade ตัวอย่างของตลาดประเภทนี้มักอยู่ในประเทศที่มีมาตรการด้านคาร์บอนชัดเจนแล้ว อาทิ ตลาด European Union Emission Trading Scheme (EU-ETS) ของ EU เป็นต้น

2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นตลาดที่ภาครัฐไม่ได้กำหนดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่สามารถปล่อยได้ แต่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ในการที่จะลดคาร์บอน โดยฝั่งผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีการตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจน ขณะที่ฝั่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาโครงการลดการปล่อยคาร์บอนที่พิสูจน์ได้ว่าช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้จริง อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากภาคพลังงาน

ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย

ปัจจุบันตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาโครงการลดคาร์บอนไปจนถึงการรับรองปริมาณคาร์บอน โดยผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตต้องทำการเปิดบัญชีเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการชดเชยคาร์บอนกับ อบก. หลังจากนั้นจะต้องคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในแต่ละปีสำหรับองค์กร หรือในระหว่างการผลิต การใช้งาน และการจำหน่าย ตามมาตรฐานที่ อบก. กำหนด ถัดมาจึงเริ่มดำเนินการลดคาร์บอนด้วยตนเอง และหากมีปริมาณคาร์บอนที่ยังไม่สามารถลดได้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถขอชดเชยส่วนดังกล่าวจากการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องให้ผู้ทวนสอบอิสระทำการทวนสอบการดำเนินงานเพื่อความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะส่งผลการทวนสอบให้กับ อบก. เพื่อออกใบรับรองการชดเชยคาร์บอน

การเตรียมพร้อมรับมือมาตรการคาร์บอน

ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับมาตรการด้านคาร์บอนที่จะบังคับใช้ในอนาคต ซึ่งสามารถแบ่งเป็น

  • มาตรการจากประเทศคู่ค้า โดยล่าสุดมาตรการที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของ EU ที่เตรียมใช้ในปี 2566 โดยกำหนดให้ผู้ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายใน EU จะต้องจัดทำรายงานประจำปีที่แสดงรายละเอียดจำนวนสินค้าที่นำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา และจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนด้วยการซื้อ CBAM Certificates เพื่อเป็นการปรับคาร์บอนของสินค้าดังกล่าว โดยราคาของ Certificates จะเชื่อมโยงกับราคาคาร์บอนในตลาด EU-ETS อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก EU จะใช้มาตรการดังกล่าวกับสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย ซีเมนต์ และพลังงานไฟฟ้า โดยยังให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ในช่วงปี2566-2568 ก่อนจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2569
  • มาตรการจากบริษัทคู่ค้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าซึ่งกำหนดเป้าลดคาร์บอนของตนเอง อาทิ กรณีบริษัทโตโยต้าประกาศตั้งเป้าเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2578 ทำให้โตโยต้าจะต้องหาวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงการเลือกซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนยานยนต์จาก Suppliers ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็น Suppliers ของโตโยต้าก็ต้องดำเนินมาตรการลดคาร์บอนเช่นกันในอนาคต

การปรับตัวตามบริบทโลกที่มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจไทย โดยผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรฐานใหม่ของโลกการค้า ตั้งแต่ศึกษาทำความเข้าใจระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาคำนวณการปล่อยคาร์บอน ไปจนถึงการนำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ และแสดงในรายงานความยั่งยืนขององค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่อไป

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงานในเวียดนาม

    ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ การเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน ประกอบกับมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ เวียดนา...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products