Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- อาร์เจนตินาประกาศใช้มาตรการCapital Controls เพื่อพยุงการอ่อนค่าของเงินเปโซหลังจากรัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศว่าจะเลื่อนการชำะคืนเงินกู้พันธบัตรและรัฐบาลจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้
- ชนวนวิกฤตความเชื่อมั่นอาร์เจนตินารอบใหม่เป็นผลจากสถานการณ์การเมืองที่พลิกผันทำให้นักลงทุนกังวลกับวินัยทางการเงินของภาครัฐ จนทำให้รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่สามารถระดมเงินเพื่อนำมาหมุนจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดชำระ
- รัฐบาลอาร์เจนตินาชุดใหม่อาจไม่ได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับ IMF ได้โดยเร็ว จนอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกดดันเงินเปโซให้ยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก
-
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 อาร์เจนตินาประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Controls) ที่ครอบคลุมถึงการจำกัดไม่ให้ประชาชนซื้อหรือโอนเงินตราต่างประเทศเกินเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อพยุงการอ่อนค่าของเงินเปโซที่กลับมาอยู่ในภาวะผันผวนในทิศทางอ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศว่าจะเลื่อนการชำระคืนเงินกู้พันธบัตรระยะสั้นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปอย่างน้อย 6 เดือน และรัฐบาลจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งรวมถึงหนี้เงินกู้ของ IMF มูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังต้องการให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวกับ IMF อีกด้วย
มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control)
รายละเอียดสำคัญของมาตรการควบคุมเงินทุนของอาร์เจนตินา มีดังนี้
- กรณีการส่งออก ผู้ส่งออกสินค้าในอาร์เจนตินาต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระ
ค่าสินค้ามาแลกเป็นเงินสกุลเงินท้องถิ่นภายใน 5 วันทำการหลังจากได้รับเงิน - กรณีการนำเข้า ไม่จำกัดการชำระเงินตราต่างประเทศสำหรับค่าสินค้านำเข้า ยกเว้นนำเข้ามีมูลค่าเกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งต้องขออนุญาตจากธนาคารกลางอาร์เจนตินาก่อนชำระเงิน
- กรณีบุคคลธรรมดา บุคคลธรรมดาสามารถซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และสามารถโอนเงินไปต่างประเทศได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หากเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องขออนุญาตก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการจำกัดการเบิกเงินตราต่างประเทศออกจากบัญชีของตน
สถานการณ์การเมืองพลิกผัน …ชนวนวิกฤตความเชื่อมั่นอาร์เจนตินารอบใหม่
การประกาศผลการเลือกตั้งรอบ Primary เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ที่ประธานาธิบดี Mauricio Macri ของอาร์เจนตินาได้คะแนน 32.3% แพ้นาย Alberto Fernández คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนน 47.4% ซึ่งคะแนนที่ทิ้งห่างกันมากกว่า 10% ก่อให้เกิดความกังวลว่าประธานาธิบดี Macri จะแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562 และจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางของ IMF สะดุดลง เนื่องจากนาย Fernández มีนโยบายประชานิยมและไม่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดของ IMF ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายสินทรัพย์ทั้งหุ้นและพันธบัตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอาร์เจนตินาที่ออกขายรอบใหม่ จนทำให้รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่สามารถระดมเงินในตลาดทุนจากการขายพันธบัตรระยะสั้นรอบล่าสุด เพื่อนำมาหมุนจ่ายหนี้ได้ จึงนำไปสู่การประกาศเลื่อนการชำะคืนเงินกู้พันธบัตรระยะสั้นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในท้ายที่สุด
แนวโน้มในระยะถัดไป : ต้องจับตาความเสี่ยงด้านการเมืองหลังเลือกตั้ง
ฝ่ายวิจัยธุรกิจเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่นาย Fernández จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 เนื่องจากผลการเลือกตั้งรอบ Primary บ่งชี้ว่าชาวอาร์เจนตินาไม่พอใจที่ประธานาธิบดี Macri ดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดตาม IMF เนื่องจากนโยบายดังกล่าวนำไปสู่การลดรายจ่ายภาครัฐและก่อให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับยังไม่สามารถฉุดเศรษฐกิจอาร์เจนตินาให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย โดยในไตรมาสแรกปี 2562 เศรษฐกิจอาร์เจนตินายังหดตัวถึง 5.8% (y-o-y) ต่อเนื่องจากที่หดตัว 2.5% ในปี 2561 ทั้งนี้ หากนาย Fernández ชนะการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2562 จะนำไปสู่ความกังวลในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- อาร์เจนตินาจะกลับมาใช้นโยบายประชานิยม นาย Fernández มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายบริหารประเทศแบบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาคะแนนนิยม รวมทั้งการอุดหนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนซ้ำเติมปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรังของอาร์เจนตินา นอกจากนี้ นาย Fernández ยังมีแนวนโยบายค่อนไปทางชาตินิยม (Nationalism) ทำให้มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจรวมถึงมาตรการควบคุมเงินทุนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตลอดจนการควบคุมราคาสินค้าเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงถึง 4% ในเดือนกรกฎาคม 2562
- IMF อาจไม่อนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ เนื่องจากนโยบายประชานิยมของนาย Fernández เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับแผนการรัดเข็มขัดเพื่อลดยอดขาดดุลการคลังของ IMF จึงมีแนวโน้มว่าการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เบิกจ่ายไปแล้ว รวมทั้งการขอกู้รอบใหม่จาก IMF เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและจ่ายหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นและอาจไม่สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่อาร์เจนตินาจะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในระยะถัดไป สอดคล้องกับดัชนี Credit Default Swap (CDS) 5 ปี ของอาร์เจนตินา ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,044 Basis Points ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 เป็น 5,506 Basis Points ณ วันที่ 2 กันยายน 2562 ซึ่งระดับดังกล่าวสะท้อนโอกาสผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินาสูงถึง 91% ทั้งนี้ หากรัฐบาลอาร์เจนตินาชุดใหม่ไม่ได้รับเงินกู้ก้อนใหม่และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับ IMF ได้จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ คาดว่าจะยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกดดันเงินเปโซให้ยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก
ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
- การชำระค่าสินค้าอาจล่าช้า โดยเฉพาะกรณีที่สินค้าส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เนื่องจากผู้นำเข้าในอาร์เจนตินาต้องขออนุญาตจากธนาคารกลางอาร์เจนตินาในการดำเนินการชำระค่าสินค้า
- ความสามารถในการชำระหนี้ของคู่ค้าลดลง เนื่องจากเงินเปโซในปัจจุบันที่อ่อนค่าถึงราว 25% จากในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 ส่งผลให้มูลค่าสินค้านำเข้าเมื่อแปลงเป็นเปโซแพงขึ้นทันทีในสายตาของผู้นำเข้า ดังนั้น สำหรับผู้ส่งออกไทยที่เพิ่งส่งสินค้าไปอาร์เจนตินาแล้วยังไม่ได้รับชำระค่าสินค้า จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์การชำระเงินอย่างใกล้ชิด
- การส่งออกสินค้าไทยไปอาร์เจนตินามีแนวโน้มหดตัว การส่งออกของไทยไปอาร์เจนตินาในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 617.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 19.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปี 2562 จะหดตัวต่อเนื่อง โดยเงินเปโซที่อ่อนค่าลงอย่างมากถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของอาร์เจนตินาอยู่ในระดับสูง และทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งนี้ อาร์เจนตินาถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 32 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปอาร์เจนตินาเป็นมูลค่า 1,216.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 คิดเป็นสัดส่วนราว 0.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย
- กรณีการส่งออก ผู้ส่งออกสินค้าในอาร์เจนตินาต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระ
ที่เกี่ยวข้อง
-
วิกฤตค่าเงินเปโซ…ผลสะท้อนปัญหาเรื้อรังของอาร์เจนตินา
ประเด็นสำคัญ อาร์เจนตินาเผชิญวิกฤตค่าเงินครั้งรุนแรงหลังเงินเปโซอ่อนค่าลงอย่างหนักกว่า 20% รัฐบาลประกาศมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่เพื่อขอรับเงินกู้จาก IMF เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ปั...
06.09.2018
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019 -
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EU
ประเด็นสำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ใน EU ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 การแพร่ระบาดเป็นปัจจัยบั่นท่อนเศรษฐกิจ EU โดยจะส่งผลกระทบต่อภา...
24.03.2020