Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- อาร์เจนตินาเผชิญวิกฤตค่าเงินครั้งรุนแรงหลังเงินเปโซอ่อนค่าลงอย่างหนักกว่า 20%
- รัฐบาลประกาศมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่เพื่อขอรับเงินกู้จาก IMF เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
- ปัญหาสะสมมาตั้งแต่การใช้นโยบายประชานิยมในช่วงปี 2550-2558 ที่ทำให้เกิดปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรัง
- วิกฤตค่าเงินเปโซมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงหลังจากได้รับเงินกู้จาก IMF แต่เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวในปี 2561 จากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
- ผู้นำเข้าในอาร์เจนตินาอาจชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากเงินเปโซที่อ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น
-
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินเปโซอ่อนค่าลงอย่างหนักกว่า 20% แม้ว่าธนาคารกลางอาร์เจนตินาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 45% เป็น 60% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในโลก เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเปโซ รวมทั้งสกัดกั้นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่า 30% ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาร์เจนตินายังขอให้ IMF เร่งอนุมัติเงินกู้มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะ 3 ปี (เกือบ 10% ของ GDP ปี 2561) ตามที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อช่วงต้นปี เพื่อช่วยกอบกู้วิกฤตค่าเงินก่อนที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจอาร์เจนตินาที่กำลังเปราะบาง อย่างไรก็ตาม เพื่อแลกกับ
การได้รับเงินกู้จาก IMF ล่าสุดประธานาธิบดี Mauricio Macri ของอาร์เจนตินาประกาศมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ คือ การยุบกระทรวงต่างๆ ลงเกือบครึ่งหนึ่ง จาก 19 กระทรวง เหลือ 10 กระทรวง (ยังไม่มีรายละเอียดกระทรวงที่จะยุบ) อีกทั้งยังเตรียมใช้มาตรการเก็บภาษีส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการและสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ทั้งนี้ อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลก อาทิ
ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี คาดว่ามาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวจะทำให้ดุลการคลังของอาร์เจนตินากลับมาสู่ภาวะสมดุลในปี 2562 (จากที่ขาดดุลราว 2.7% ต่อ GDP ในปี 2561) เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการรับเงินกู้จาก IMF ที่ต้องการให้อาร์เจนตินาแก้ปัญหาขาดดุล
การคลังเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินเปโซมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ -
-
-
ต้นต่อวิกฤตค่าเงินเปโซ…ผลพวงจากอดีตสู่ปัญหาในปัจจุบัน
- [ปี 2550-2558] นโยบายประชานิยมของประธานาธิบดี Cristina Kirchner ถือเป็น จุดเริ่มต้นของปัญหาขาดดุลการคลัง ส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งอุดหนุนสวัสดิการด้านต่างๆ โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทั้งไฟฟ้า
ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรัง อีกทั้งรัฐบาลยังพิมพ์เงินออกมาเพื่อนำมาใช้จ่ายบางส่วน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในระดับสูงราว 8-10% ขณะเดียวกันรัฐบาลในช่วงดังกล่าวยังควบคุมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด
เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินเปโซ ซึ่งส่งผลให้เงินเปโซแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น (Overvalued) นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปหรือยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ อาทิ กรณีการยึดคืนหุ้นของกิจการ YPF จากบริษัท Repsol ของสเปน ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินา ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มขาดความมั่นใจด้านการลงทุนในอาร์เจนตินา - [2558-ปัจจุบัน] นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Macri ที่มุ่งแก้ปัญหาเก่า แต่กลับซ้ำเติมให้ปัญหาอื่นรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อาทิ นโยบายรัดเข็มขัด โดยเฉพาะ
การยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน และนโยบายผ่อนคลายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
ซึ่งส่งผลให้เงินเปโซที่เดิมอยู่ในภาวะ Overvalued อ่อนค่าลงตามที่ควรจะเป็น ซึ่งทั้งสองปัจจัยมีส่วนผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
- [ปัจจุบัน] การสูญเสียความเชื่อมั่นในค่าเงิน Lira ของตุรกีในช่วงก่อนหน้า จุดชนวนความวิตกกังวลต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน รวมถึงอาร์เจนตินา ซึ่งนักลงทุนแสดงความกังวลในประเด็นที่ว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาอาจไม่สามารถหาเงินได้เพียงพอกับรายจ่ายที่มีอยู่ โดย Oxford Economics ประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 2561-2562 รัฐบาลต้องการเงินสูงถึง 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาใช้จ่ายและชำระหนี้ ซึ่งมากกว่าที่รัฐบาลขอกู้จาก IMF ส่งผลให้เกิดการเทขายเงินเปโซอย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องติดตามในระยะถัดไป
การได้รับเงินกู้จาก IMF อาจเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายปมปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เรื้อรังมานาน และคาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาค่อนข้างมาก ทั้ง ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
- ความเชื่อมั่นในค่าเงินเปโซหลังจากรัฐบาลอาร์เจนตินาเบิกจ่ายเงินกู้จาก IMF เนื่องจากนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลถึงความสามารถในการใช้จ่ายของรัฐบาล
- ทิศทางเศรษฐกิจอาร์เจนตินาจากผลของมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล โดยรัฐบาลประมาณการว่าเศรษฐกิจปี 2561 จะหดตัว 1% จากที่ขยายตัว 9% ในปี 2560
- การรับมือของรัฐบาลกับชาวอาร์เจนตินาบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการขอรับเงินช่วยเหลือจาก IMF ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ชาวอาร์เจนตินาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เนื่องจากไม่พอใจที่ประธานาธิบดี Macri เจรจาขอรับเงินกู้จาก IMF ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยมของประธานาธิบดี Macri ที่จะลงเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562 และหากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลก็อาจทำให้แนวนโยบาย
การบริหารประเทศตาม IMF สะดุดลงได้ ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง - ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการค้าระหว่างประเทศหรือกู้เงินต่างประเทศอาจประสบภาวะหยุดชะงักจากความผันผวนของค่าเงิน โดยผู้นำเข้าในอาร์เจนตินาอาจชะลอการนำเข้าสินค้า ตลอดจนผู้นำเข้าอาจหาเหตุชะลอการชำระค่าสินค้า เนื่องจากเงินเปโซที่อ่อนค่าลงมากทำให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อชำระค่าสินค้าในเทอมดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อไทยในภาพรวมยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากอาร์เจนตินาและไทยมีการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนไม่มากนัก ทั้งนี้ อาร์เจนตินาเป็นคู่ค้าอันดับ 34 ของไทยในปี 2560 โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและอาร์เจนตินามีสัดส่วนราว 4% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอาร์เจนตินา ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับตาความเสี่ยงการเมือง…พลิกชะตาอาร์เจนตินาสู่วิกฤตระลอกใหม่
ประเด็นสำคัญ อาร์เจนตินาประกาศใช้มาตรการCapital Controls เพื่อพยุงการอ่อนค่าของเงินเปโซหลังจากรัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศว่าจะเลื่อนการชำะคืนเงินกู้พันธบัตรและรัฐบาลจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 1 แสนล้านดอลลา...
03.09.2019
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019 -
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EU
ประเด็นสำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ใน EU ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 การแพร่ระบาดเป็นปัจจัยบั่นท่อนเศรษฐกิจ EU โดยจะส่งผลกระทบต่อภา...
24.03.2020