Hot Issues

ส่องสถานการณ์อินโดนีเซียหลังเลือกตั้งประธานาธิบดี

ประเด็นสำคัญ

  • ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ประธานาธิบดี Joko Widodo หรือ Jokowi มีคะแนนนำอยู่ที่ราว 54-56% ขณะที่คู่แข่ง Prabowo Subianto มีคะแนนเป็นรองที่ 44-46 % เบื้องต้นคาดว่าผลการนับคะแนนดังกล่าวจะไม่พลิกโผ ส่งผลให้นาย Jokowi จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นสมัยที่ 2

  • ประธานาธิบดี Jokowi มีแนวนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนมากนัก ซึ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ยังคงเผชิญปัญหาเศรษฐกิจบางประการที่ต้องมุ่งแก้ไข

  • การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้นและนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติคาดว่าจะส่งผลดีต่อ บรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินโดนีเซีย

ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามคาดหมาย ... Jokowi จ่อคว้าชัยชนะ

อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 โดยจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ประธานาธิบดี Joko Widodo หรือ Jokowi มีคะแนนนำอยู่ที่ราว 54-56% ขณะที่คู่แข่งคนเดิมอย่าง Prabowo Subianto อดีตนายพลเกษียณราชการมีคะแนนเป็นรองที่ 44-46 % ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซียจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายในเดือนพฤษภาคม 2562 เบื้องต้นคาดว่าผลการนับคะแนนดังกล่าวจะไม่พลิกโผ ส่งผลให้นาย Jokowi จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นสมัยที่ 2 หลังจากเคยชนะนาย Subianto อย่างฉิวเฉียดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2557

ส่องนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของประธานาธิบดี Jokowi

ประธานาธิบดี Jokowi มีแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้า ซึ่งแนวนโยบายที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ส่วนใหญ่ยังเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจของประธานาธิบดี Jokowi มีดังนี้

  • การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ประธานาธิบดี Jokowi มีแผนผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยเงื่อนไขการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (Negative Investment List : DNI) ฉบับปี 2559 โดยยกเลิกกิจการที่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในอินโดนีเซีย 54 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีถึง 25 สาขา ครอบคลุม 8 อุตสาหกรรมที่จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% อาทิ สื่อสาร ขนส่ง พลังงานและเหมืองแร่ นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการบางประเภท และการลดหย่อนภาษีที่เรียกเก็บจากการส่งผลกำไรกลับประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค อาทิ ท่าเรือ สนามบิน เครือข่ายถนนและทางรถไฟ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ประธานาธิบดี Jokowi ใช้หาเสียงมาตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันอินโดนีเซียยังคงขาดการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างเกาะต่างๆ ทำให้การขนส่งภายในประเทศมีต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าการลงทุนในอินโดนีเซีย รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ประธานาธิบดี Jokowi จึงสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

  • การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ประธานาธิบดี Jokowi มีแผนจะนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติ โดยในปี 2561 อินโดนีเซียประกาศโรดแมพนโยบาย Making Indonesia 4.0 ซึ่งมีอุตสาหกรรมนำร่อง 5 ประเภท ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์

  • การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวภายใต้แผน 10 New Bali ประธานาธิบดี Jokowi มีแผนสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเพิ่มอีก 10 แห่งให้คล้ายกับเกาะบาหลี เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในอินโดนีเซียมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 15.8 ล้านคน

ความท้าทายของอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงเผชิญความท้าทายบางประการ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องมุ่งแก้ไข ได้แก่

  • การผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าระดับปัจจุบัน เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวราว 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับที่ดีภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 7% ซึ่ง Jokowi ได้หาเสียงไว้เมื่อปี 2557 ดังนั้น รัฐบาล Jokowi สมัยแรกจึงไม่ประสบความสำเร็จตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ และเป็นความท้าทายของรัฐบาล Jokowi สมัยที่ 2 ว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้เติบโตสูงกว่าระดับปัจจุบันได้หรือไม่

  • การบริหารเงินรูเปียะห์ ในปี 2561 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนเผชิญปัญหาค่าเงินอ่อนลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอินโดนีเซียที่เงินรูเปียะห์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ในเดือนตุลาคม 2561 แม้จะกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่ลงทุนในอินโดนีเซียและรับรายได้เป็นเงินรูเปียะห์มีรายได้ลดลงเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อโอนกลับประเทศของผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2562 เงินรูเปียะห์จะไม่ประสบปัญหาอ่อนค่ารุนแรงอีกเหมือนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ทิศทางเงินทุนจะไม่ผันผวนมากจนกระทบค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่เหมือนปีที่ผ่านมา

  • ปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficit) อินโดนีเซียประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ขาดดุล 3% ต่อ GDP ในปี 2561) และขาดดุลงบประมาณ (ขาดดุล 9% ต่อ GDP ในปี 2561) พร้อมกัน ซึ่งโดยทั่วไปหากสถานการณ์ดังกล่าวรุนแรง จะทำให้ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงและส่งผลต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่น ทั้งนี้ แนวนโยบายของรัฐบาล Jokowi ที่มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลักดันการส่งออกจะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเพื่อลดภาระดังกล่าว

ผลกระทบต่อไทย

ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 8 ของไทย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล นอกจากนี้ ไทยยังเป็นนักลงทุนต่างชาติสำคัญอันดับ 11 ของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าลงทุนในปี 2561 ราว 396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติของ Jokowi นับว่าเอื้อต่อการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียของผู้ประกอบการไทย ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจสำคัญของประธานาธิบดี Jokowi ได้ช่วยขยายโอกาสการลงทุนของไทยในอินโดนีเซีย ทั้งธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนนโยบาย Making Indonesia 4.0 ที่อุตสาหกรรมนำร่องส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินโดนีเซีย นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เดิมเน้นส่งออกไปอินโดนีเซีย จะพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปที่อินโดนีเซียแทน ขณะที่นโยบายส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวภายใต้แผน 10 New Bali ถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจบริการที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพสูงในการขยายการลงทุนเข้าไปในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • calendar icon19.05.2021
  • calendar icon11.11.2019
Most Viewed
more icon
  • calendar icon25.01.2021
  • calendar icon16.10.2019
  • calendar icon24.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products