Hot Issues

ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีน…บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการส่งออกไทย

ประเด็นสำคัญ

  • จีนเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้า และหลายมณฑลต้องปันส่วนการใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
  • ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีนจะบั่นทอนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีแนวโน้มกระเทือนถึงห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลกเนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญของโลก
  • การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งจีนนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตและส่งออก

สถานการณ์ : หลายมณฑลในจีนเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้า

  • หลายมณฑลในจีนเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้า โดยเริ่มจากบริเวณมณฑลจี๋หลิน เหลียวหนิง และเฮย์หลงเจีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญของจีน (สัดส่วนการส่งออกราว 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน) ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องมีการจำกัดและปันส่วนการใช้ไฟฟ้าแก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยมีการงดจ่ายไฟฟ้าแก่โรงงานบางวันในรอบสัปดาห์ ล่าสุด Bloomberg รายงานว่ามณฑลและเขตปกครองตนเองอย่างน้อย 20 แห่ง ซึ่งคิดเป็นกว่า 66% ของ GDP จีน ประกาศใช้แนวทางการจำกัดและปันส่วนการใช้ไฟฟ้า ควบคุมการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าในระดับสูง เช่น การผลิตเหล็ก และหลายพื้นที่ประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้าด้วยการงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสูง อาทิ เครื่องทำน้ำอุ่น และไมโครเวฟ ในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง (On Peak) 

  • ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีนเป็นผลจากภาวะ Mismatch ระหว่าง Demand การใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ด้าน Supply การผลิตไฟฟ้าประสบปัญหาขาดแคลนถ่านหินและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ปรับขึ้นตามภาวะราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นสูง โดยถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของจีน มีสัดส่วนราว 65% ของการผลิตไฟฟ้าในปี 2562 ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนถ่านหินของจีนมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1) นโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรัฐบาลจีน ภายใต้เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2603 ทำให้รัฐบาลควบคุมการใช้พลังงานจากถ่านหิน ตลอดจนลดปริมาณการผลิตถ่านหินและปิดเหมืองถ่านหินหลายแห่งในประเทศ และ 2) รัฐบาลจีนคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียตั้งแต่ปลายปี  2563 เนื่องจากข้อพิพาทระหว่างสองประเทศจากการที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้นานาชาติตรวจสอบแหล่งที่มาของเชื้อ COVID-19 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่จีน รวมทั้งการห้ามใช้เทคโนโลยี 5G ของจีน ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นแหล่งนำเข้าถ่านหินสำคัญอันดับ 1 ของจีน โดยมีสัดส่วนราว 48% ของมูลค่านำเข้าถ่านหินทั้งหมดของจีนในปี 2563

ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีนจะบั่นทอนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีแนวโน้มกระเทือนถึงห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลกระทบต่อจีน : เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม

  • การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวจากดัชนี PMI ในเดือน ก.ย. 2564 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 50 (สะท้อนว่าภาคการผลิตหดตัว) ซึ่งจะซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องจากปัญหาการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้ Evergrande โดยล่าสุด Goldman Sachs และ Nomura ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปี 2564 ลง 0.4% และ 0.5% ตามลำดับ

  • สถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ ทั้งนี้ แม้ทางการจีนเร่งปรับโครงสร้างด้านพลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยการเร่งลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโครงการ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เร่งเจรจาเพื่อหาแหล่งซัพพลายเออร์ถ่านหินรายใหม่ในประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลก อาทิ อินโดนีเซีย และมองโกเลีย แต่การหาแหล่งซัพพลายเออร์ถ่านหินจำนวนมากเพื่อทดแทนออสเตรเลีย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน ทำให้คาดกันว่าสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในจีนจะยืดเยื้อและยังไม่คลี่คลายลงอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • calendar icon20.09.2021
  • calendar icon20.04.2021
Most Viewed
more icon
  • calendar icon25.01.2021
  • calendar icon16.10.2019
  • calendar icon24.03.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products