Hot Issues

จับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลกระทบต่อไทยหลัง QE Tapering

ประเด็นสำคัญ

  • FED ประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564
  • การลดวงเงิน QE แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ต้องจับตามอง
  • การปรับทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ ผ่าน QE Tapering รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า จะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งในมิติของการอ่อนค่าของเงินบาท ภาคการค้า ตลอดจนต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเตรียมพร้อมรับมือ

สถานการณ์ : FED ประกาศเริ่มปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering)    

  • FED ประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้าว่าจะเริ่มลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ FED ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (FED Funds Rate) ที่ระดับ 0-0.25% เพื่อรักษาระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป
  • สาเหตุการทำ QE Tapering : เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องอย่าง QE มีประสิทธิภาพลดลง ประกอบกับสัญญาณเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็น 4% ในเดือน ก.ย. 2564 สูงสุดในรอบ 13 ปี ยิ่งสนับสนุนการทำ QE Tapering เพื่อลดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

 

ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ

  • การประกาศลดวงเงิน QE สะท้อนความเชื่อมั่นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเมื่อเดือน ก.ย. 2564 FED ได้ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2565 เป็น 8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือน ต.ค. 2564 จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันมูลค่ารวมราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14% ของ GDP) โดยล่าสุดสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเตรียมเสนอประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้ต่อไป

  • แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ดังนี้
    1) ภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งมีแนวโน้มสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจและบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เศรษฐกิจเปลี่ยนเกียร์เร่งเครื่องออกจากภาวะชะงักงันในช่วง COVID-19 และปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนในหลายอุตสาหกรรม จนส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัว
    2) ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
    โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ขณะที่สัดส่วนชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสยังต่ำกว่าระดับที่ก่อให้เกิด Herd Immunity โดยอยู่ที่ราว 57% แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นผลจากชาวอเมริกันบางกลุ่มไม่ประสงค์จะรับวัคซีน



    3) ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED โดยเฉพาะหาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปก็จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ โดย FED ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปี 2565 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นในปี 2566 ขณะที่ EIU คาดการณ์ว่า FED มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความกังวลด้านเงินเฟ้อ  

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • calendar icon20.04.2021
  • calendar icon29.01.2021
Most Viewed
more icon
  • calendar icon25.01.2021
  • calendar icon16.10.2019
  • calendar icon24.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products