Hot Issues

ประเมินผลกระทบต่อธุรกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

สถานการณ์สำคัญ

 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงเริ่มพบการติดเชื้อครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองเมื่อพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว อีกทั้งการที่คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีนได้ออกประกาศว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ทำให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการเฝ้าระวังมากขึ้น ล่าสุด (23 มกราคม 2563) พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้วกว่า 800 ราย ซึ่งรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในหลายประเทศ/พื้นที่ ดังนี้ ญี่ปุ่น (2 ราย) สหรัฐฯ (1 ราย) ไต้หวัน (1 ราย) เกาหลีใต้ (1 ราย) มาเก๊า (2 ราย) ไทย (ชาวไทย 1 ราย และชาวจีนที่มาไทย 3 ราย)  ฮ่องกง (1 ราย) สิงคโปร์ (1 ราย) และเวียดนาม (1 ราย) หลายฝ่ายจึงกังวลว่าการแพร่ระบาดอาจยิ่งควบคุมได้ยากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนหลายล้านคนเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนี้

  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง : การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพิ่มความเสี่ยงให้กับการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน รวมถึงธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนธุรกิจโรงพยาบาลที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วน 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562) อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดและไม่ปกปิดข้อมูลการระบาดในประเทศ ซึ่งต่างจากการแพร่ระบาดของโรค SARS ซึ่งใช้เวลาถึง 4 เดือนจึงประกาศเป็น Global Alert อีกทั้งจีนและหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างเข้มงวด ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอยู่ในระดับจำกัด
  • ภาคการส่งออก : การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ อาจต้องลดกิจกรรมต่างๆ ลง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ชอปปิ้ง รับประทานอาหารนอกบ้าน ชมภาพยนตร์ และทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีโอกาสชะลอลง และมีผลให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวย่อมกระทบต่อมูลค่าส่งออกรวมของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทย (สัดส่วน 12% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดของไทยในปี 2562) โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ผลไม้สด เนื้อไก่สด อุปกรณ์เดินทาง ชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เช่น เม็ดพลาสติก และยางพารา ที่คาดว่าจะมีความต้องการลดลงตามความต้องการสินค้าหลายชนิดที่ลดลงในจีน อย่างไรก็ตาม คาดว่าสินค้าที่จะได้รับผลทางบวกทั้งในการส่งออกไปตลาดจีนและตลาดอื่นๆ คือ กลุ่มสินค้าทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ และอุปกรณ์การฆ่าเชื้อ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงอาหารพร้อมรับประทาน และอุปกรณ์สร้างความบันเทิงในที่พักอาศัย เพราะประชาชนมีแนวโน้มลดการทำกิจกรรมนอกที่พักอาศัย

 

-----

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) หรือที่รู้จักในชื่อไทยว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการไข้สูง ไอแห้ง อ่อนเพลีย และอาจลุกลามไปสู่โรคปอดอักเสบรุนแรงได้ ทั้งนี้ พบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสซาร์ส (SARS) ที่มีการแพร่ระบาดครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในปี 2545 โดยเป็นการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในวงกว้างครอบคลุมถึง 19 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 774 ราย ติดเชื้อ 8,098 ราย

หลายประเทศออกมาตรการ รวมทั้งยกระดับการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

  • จีน พร้อมรายงานข้อมูลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับทราบสถานการณ์และทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือ ล่าสุดจีนได้เปิดเผยจีโนมของเชื้อไวรัสโคโรนาให้กับนักวิทยาศาสตร์และ WHO เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวและหาวิธีรักษา รวมถึงปิดเมืองอู่ฮั่น ตลอดจนเมืองใกล้เคียงอย่างเมืองหวงกังและเมืองเอ้อโจว ด้วยการออกมาตรการหยุดให้บริการรถบัส รถไฟใต้ดิน เรือ รถไฟ และเครื่องบิน ที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารออกนอกเมือง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนใน 3 เมืองดังกล่าวมิให้เดินทางออกนอกเมืองตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563
  • สหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ยกระดับการเตือนภัยด้านสาธารณสุขขึ้นสูงสุดเป็นระดับ 2 สำหรับผู้ที่มีการเดินทางเข้า-ออกเมืองอู่ฮั่น และขยายมาตรการคัดกรองผู้โดยสารตามสนามบินอย่างน้อย 5 แห่ง
  • ไทย ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 5 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต ตลอดจนเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วย
  • เกาหลีใต้ กำหนดมาตรการกักกันผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • China Evergrande Group ส่งสัญญาณผิดนัดชำระหนี้

    ประเด็นสำคัญ China Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หลายฝ่ายคาดว่าในเชิงโครงสร้างรัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้ และ...

    calendar icon20.09.2021
  • ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า…กดดันธุรกิจท่องเที่ยวโลก

    ประเด็นสำคัญ ความเร็วในการฟื้นตัวของการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนขึ้นกับการกระจายวัคซีน และความเข้มงวดของมาตรการควบคุม COVID-19 ของจีน นักท่องเที่ยวจีนเป็นความหวังของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกหลังว...

    calendar icon01.06.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products