Hot Issue ประเทศเป้าหมาย

ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดในกลุ่ม CLMV ขณะที่เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวในปี 2565 จากสถานการณ์ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ เมียนมาและ สปป.ลาว ที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนโดยรวมของโลก ทำให้ COVID-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ขณะที่กัมพูชามีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนมากที่สุดจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาหนี้สาธารณะของ สปป.ลาว กดดันความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ขณะที่หนี้สาธารณะของเมียนมาปรับขึ้นรวดเร็ว แต่หนี้สาธารณะของเมียนมาส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด รวมถึงไปเมียนมา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่แนวโน้มส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ   แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศ CLMV ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดที่ระดับ 6.6% เนื่องจากคาดว่าจะได้แรงหนุนจากการขยายตัวในภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ประกอบกับภาคส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มเติบโตดีจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 5.7% โดยได้อานิสงส์จากภาคส่งออก ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากกัมพูชาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วสามารถเดินทางเข้ากัมพูชาโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564 สำหรับ สปป.ลาว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.2% เข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เนื่องจากโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เตรียมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2564 จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากจีน ขณะที่การส่งออกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ประกอบกับการที่จีนประกาศยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าของ สปป.ลาว จำนวน 97% ของสินค้าที่จีนนำเข้าทั้งหมดจาก สปป.ลาว ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ทำให้การส่งออกสินค้าไปจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 มีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในปี 2565 ที่ 0.1% โดยวิกฤต COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจของเมียนมา เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน ไปจนถึงการบริโภคภายในประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน : เมียนมาเป็นประเทศที่น่ากังวลที่สุดจากอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนวัคซีนและบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการที่ชาวเมียนมาบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเมียนมาอาจล่าช้าไปจนถึงปี 2568 ขณะที่ สปป.ลาว ยังคงมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าอัตราการฉีดวัคซีนของโลก ทำให้เศรษฐกิจยังคงเปราะบางหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม กัมพูชาเป็นประเทศที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังมีแต้มต่อจากการเป็นพันธมิตรของจีน ทำให้กัมพูชาได้รับวัคซีนบริจาคจากจีนมากถึง 27 ล้านโดส ปัญหาหนี้สาธารณะ : ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล สปป.ลาว อยู่ในสถานะที่น่ากังวล เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูงถึง 71% ต่อ GDP โดยในช่วงปี 2564-2568 รัฐบาลมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ (ดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ครบกำหนด) เฉลี่ยราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำราว 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐยังทำได้ลำบากในปัจจุบันจากวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล สปป.ลาว มีการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง และล่าสุดได้ตั้งเป้ารักษาระดับหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2566 ไม่ให้เกิน 64.5% และ 55.4% ตามลำดับ โดยจะชะลอการกู้เงินใหม่และอาจต้องจำหน่ายสินทรัพย์รัฐบาลบางส่วนออกไป ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว แต่จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ระดับหนี้สาธารณะของเมียนมาในปี 2564 ปรับขึ้นรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 58.4% ต่อ GDP จาก 34.2% ในปีก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ประกอบกับสถานการณ์เงินจ๊าตในปัจจุบันที่อ่อนค่าลงราว 25% จากช่วงก่อนรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ทำให้หนี้ต่างประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวถือว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมในประเทศราว 60% ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระมากกว่าหนี้จากต่างประเทศ ผลกระทบและแนวโน้มต่อการส่งออกของไทยไป CLMV มูลค่าส่งออกของไทยไป CLMV ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวในทุกตลาด ไม่เว้นแม้แต่การส่งออกไปเมียนมาที่ขยายตัวถึง 13% แม้เมียนมาต้องเผชิญความวุ่นวายทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย อีกทั้งหลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกมีแนวโน้มลดระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับเมียนมาลงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว ยิ่งจะทำให้การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเมียนมา ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อัตราขยายตัวของการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากการส่งออกไป CLMV ที่เพิ่มขึ้นสูงในปี 2564 ถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติจากที่วิกฤต COVID-19 ทำให้การค้าในปี 2563 หดตัวรุนแรง     Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

03.12.2021

ประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 50%) ประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย สำหรับยางล้อนำเข้าจากไทย (14.62 - 21.09%) เวียดนาม (0-22.27%) เกาหลีใต้ (14.72-27.05%) และไต้หวัน (20.04-101.84%) พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บ CVD กับยางล้อนำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 6.23-7.89% เพื่อตอบโต้การบิดเบือนค่าเงินด่อง ในปี 2564 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางล้อของไทยไปสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บ AD เนื่องจากตลาดรถยนต์สหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 ในระยะถัดไป หากสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการ AD ไทยมีแนวโน้มจะเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ บางส่วนให้แก่แคนาดา อินโดนีเซีย และเวียดนาม จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง รวมถึงจะเผชิญคู่แข่งสำคัญรายใหม่ในตลาดยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากการปรับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทยางล้อขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบของ AD หมายเหตุ : Anti-dumping Duty (AD)  = มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด  และ Countervailing Duty (CVD) = มาตรการตอบโต้การอุดหนุน -------------------------------------------------------------------------------------- สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บ AD ขั้นสุดท้ายกับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) ที่นำเข้าจากไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอัตรา AD ขั้นสุดท้ายนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะทบทวนอัตรา AD ครั้งต่อไป หรืออาจยกเลิกการจัดเก็บหากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) พิจารณาแล้วไม่พบการทุ่มตลาด ซึ่งจะประกาศผลพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้ผลิตยางล้อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตรา 17.08% ยกเว้น บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) และ บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย) ที่ถูกเก็บในอัตรา 14.62% และ 21.09% ตามลำดับ ยางล้อจากเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ CVD โดยให้เหตุผลว่าธนาคารกลางของเวียดนามแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เงินด่องอ่อนค่าเกินจริง ซึ่งมีผลให้เวียดนามได้เปรียบผู้ผลิตสหรัฐฯ ในการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม แม้เวียดนามถูกเรียกเก็บ CVD แต่เมื่อรวมกับ AD แล้ว ผู้ผลิตยางรายใหญ่ในเวียดนามอย่าง Sailun, Kumho, Bridgestone และ Yokohama (สัดส่วนรวมกว่า 90% ของการส่งออกยางล้อทั้งหมดของเวียดนาม) กลับถูกเรียกเก็บ AD และ CVD รวมกันเพียง 6.23-7.89% ซึ่งต่ำกว่า AD ของผู้ผลิตทุกรายที่อยู่ในไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ดังกล่าวถูกเรียกเก็บ AD ที่ 0% ขณะที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD จากผู้ผลิตรายกลางและรายเล็กในอัตรา 22.27% ยางล้อของเวียดนามจึงมีแต้มต่อในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งสามดังกล่าว  และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการขยายกำลังการผลิตในเวียดนามเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย มิติขอบเขตของผลกระทบ : ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากไทยส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ 2,711.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือ 7.9% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราว 50% และเกือบครึ่งหนึ่งของยางล้อที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเรียกเก็บ AD มิติด้านเวลา : ในระยะสั้น ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เก็บ AD ยางล้อของไทยยังมีจำกัด เพราะแม้การเก็บ  AD จะทำให้ต้นทุนการนำเข้ายางล้อจากไทยแพงขึ้น แต่ราคายางล้อของไทย โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่รวม AD แล้วยังต่ำกว่าคู่แข่งสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น ประกอบกับอานิสงส์จากตลาดรถยนต์โลก รวมถึงในสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากฐานที่ต่ำ ทำให้การส่งออกยางล้อในปี 2564 ยังมีโอกาสขยายตัว โดย IHS Markit คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะขยายตัวถึง 24% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป การส่งออกยางล้อของไทยทั้งยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยางล้อบางรายเริ่มปรับกลยุทธ์หลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD ด้วยการขยายฐานการลงทุนไปประเทศที่ยังได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาหลังรวมผลกระทบจากมาตรการแล้ว เช่น เวียดนาม มิติประเภทสินค้า : ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 60% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากเวียดนาม และอาจมีคู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น  โดยผู้ผลิตยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ Kumho เตรียมลงทุนเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตยางล้อในเวียดนาม เพื่อขยายการส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่ Sailun ของจีนประกาศแผนลงทุนโรงงานยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กในกัมพูชาแล้ว ด้วยเงินลงทุน 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Nankang Rubber Tire ของไต้หวัน ซึ่งถูกเก็บ AD ในอัตรา 101.84% มีแผนย้ายสายการผลิตยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเก็บ AD ไปยังโรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 40% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างแคนาดา (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ที่ 14.9% รองจากไทยที่ 27.3%) รวมถึงอินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากราคายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD แล้วสูงกว่าประเทศคู่แข่งดังกล่าว ผลจากมาตรการ AD ต่อการลงทุนตั้งฐานผลิตยางล้อ การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางล้อรายใหญ่ของโลกประกาศใช้มาตรการดังกล่าวกับหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางล้อสำคัญ รวมถึงไทย ส่งผลต่อตลาดยางล้อโลก ตลอดจน Supply Chain ของอุตสาหกรรม โดยในส่วนของไทย ศักยภาพในการเป็นฐานการลงทุนผลิตยางล้อเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง อาจกระทบต่อแผนการลงทุนของผู้ผลิตยางล้อรายสำคัญในระยะต่อไป Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

09.06.2021

ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน - สปป.ลาว ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง   แม้วิกฤต COVID-19 จะยังไม่สิ้นสุดลง แต่การประเมินแนวโน้มตลาดยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนธุรกิจ โดยตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดการค้าการลงทุนสำคัญของไทย มีทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ และแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรม ในระยะข้างหน้า ดังนี้ ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

12.05.2021

ประเด็นสำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว น่ากังวล เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดและเป็นจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อทั้งปี 2563 จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด การแพร่ระบาดที่รุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกรณีของกัมพูชาที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจัดการได้ยาก ธุรกิจไทยประเภทร้านอาหาร/เครื่องดื่ม รวมถึงแฟรนไชส์ ในประเทศดังกล่าว ได้รับผลกระทบมากในช่วง Lockdown ขณะที่ธุรกิจโรงแรม/รีสอร์ทมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้าออกไปตามภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่การส่งออกของไทยไปประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มหดตัวในช่วง Lockdown แต่ภาพรวมทั้งปี 2564 ยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชาและ สปป.ลาว ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้ ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 น่ากังวล เนื่องจากเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดและเป็นจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อทั้งปี 2563 ขณะที่ความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่ยังมีจำกัด ทำให้การชะลอการระบาดทำได้ค่อนข้างช้า การบริการจัดการสถานการณ์ในกัมพูชายากกว่า สปป.ลาว เนื่องจากประชากรในเมืองพักอาศัยอย่างแออัดกว่า ทำให้ควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ยากกว่ากรณีของ สปป.ลาว การแพร่ระบาดที่รุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกรณีของกัมพูชาที่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจัดการได้ยาก อีกทั้งเศรษฐกิจกัมพูชาพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ในสัดส่วนที่สูง ผลกระทบต่อธุรกิจไทย Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

28.04.2021

ประเด็นสำคัญ ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ คือขุมพลังที่จะผลักดันมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564 ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่มไป 9 ตลาดส่งออกสำคัญ ดังนี้- สินค้าอาหาร ได้รับผลดีจาก COVID-19 และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564- วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน - สินค้าขั้นปลาย สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ยังไม่ฟื้นตัว สินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal จะขยายตัวต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ปัจจุบันเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน โดยความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งหรือมีงบประมาณเพียงพอในการจัดหาวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้ก่อน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีงบประมาณจำกัดยังต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรส่วนใหญ่ในการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าต่อไปจึงอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องได้ในปีนี้ แม้อัตราการกระจายของวัคซีนต่อประชากรยังไม่มากนัก อาทิ เวียดนาม กลยุทธ์ของผู้ส่งออกไทย...เน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจน การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว ขณะที่การจะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งก็ยังมีต้นทุนเพิ่ม ทั้งด้านแรงงานที่ต้องรับและฝึกสอนใหม่จากที่เลิกจ้างไปเพื่อลดต้นทุน เงินทุนหมุนเวียนที่มีจำกัดเนื่องจากต้องใช้จ่ายในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาดำเนินตามปกติ ประกอบกับเงินทุนบางส่วนยังจมอยู่กับสินค้าคงคลัง ดังนั้น การคัดเลือกตลาดที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ก่อนจึงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอาจเลือกใช้ในช่วงปี 2564 เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออก ในบรรดาตลาดส่งออกหลักของไทย 25 อันดับแรก มี 9 ประเทศ/ดินแดน ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตดีในปี 2564 [IMF ระบุในรายงาน World Economic Outlook ฉบับล่าสุด (April 2021) ว่าเศรษฐกิจในปี 2564 จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปี 2563 หรือเศรษฐกิจปี 2564 จะฟื้นตัวจาก COVID-19 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ] ได้แก่ จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 50% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2563 โดยการส่งออกของไทยไปประเทศกลุ่มนี้ขยายตัว 4.1% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 1.2% ในช่วงเดียวกัน จึงนับว่าตลาดเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่หนุนให้การส่งออกโดยรวมของไทยฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่ม ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้ารายกลุ่ม โดยพิจารณาจากสินค้าส่งออก 50 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยัง 9 ประเทศ/ดินแดนที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีข้างต้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สินค้าอาหาร 2) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง 3) สินค้าสำเร็จรูป พบแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้ สินค้าอาหารเป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 ในช่วงก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลดีจากการที่ครัวเรือนกักตุนอาหารกระป๋องในช่วง Lockdown และเมื่อตลาดคลาย Lockdown และเริ่มฟื้นตัวก็ได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อของกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารที่กลับมาเปิดดำเนินการ ขณะที่ตลาดเอเชีย (จีน ไต้หวัน และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากพอที่จะซื้อผลไม้สดนำเข้าที่ราคาค่อนข้างสูงได้ วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยการส่งออกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เคยหดตัวในปี 2563 ทั้งจากการ Lockdown จนกระทบ Supply Chain การผลิต และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใส จะทยอยกลับมาขยายตัวในระดับค่อนข้างดีในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้กิจกรรมในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าขั้นปลายมีแนวโน้มแตกต่างกัน ตามกลุ่มสินค้าย่อย โดยสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์อย่างเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนอัญมณีและเครื่องประดับ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เพราะแม้เศรษฐกิจของตลาดนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคยังกลับมาไม่เต็มที่ จึงเลื่อนการซื้อสินค้าไม่จำเป็นและมีราคาแพงออกไปก่อน และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มนี้จะกลับมา ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงอาจใช้กลยุทธ์ Wait and See เพื่อรอสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนสินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องคอมพิวเตอร์) และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 และการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ อาทิ รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า การส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ โดยสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงอย่างรุนแรงในปี 2563 มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวได้สูง เนื่องจากมีความต้องการตกค้างจากปีที่แล้วอยู่มาก นอกจากการคัดเลือกตลาดที่ใช่ เช่น ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว ผู้ส่งออกยังควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออก อาทิ การทำประกันการรับชำระเงินค่าสินค้า และการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อให้เดินหน้าลุยตลาดได้อย่างมั่นใจ Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

20.04.2021

สถานการณ์สำคัญ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ขั้นต้นเป็นการชั่วคราวสำหรับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) จากไทยในอัตรา 13.25-22.21% และจากอีก 3 แหล่งนำเข้า ได้แก่ เวียดนาม ในอัตรา 0-22.27% เกาหลีใต้ 14.24-38.07% และไต้หวัน 52.42-98.44% ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้ายสำหรับสินค้าดังกล่าวภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 การส่งออกยางล้อของไทย ยางล้อเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด (สัดส่วน 44%) ในหมวดผลิตภัณฑ์ยางส่งออกของไทยไปตลาดโลก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 50% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทย มูลค่าส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี (ปี 2558-2563) หมายเหตุ : โดยปกติแล้วการไต่สวน AD ของสหรัฐฯ ในครั้งแรกของแต่ละสินค้าจะมีการประกาศผล AD ขั้นต้น และเรียกเก็บ AD ในอัตราดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศผล AD ขั้นสุดท้าย จึงจะใช้อัตรา AD ที่ประกาศในขั้นสุดท้ายเป็นอัตราที่เรียกเก็บจริง หากอัตรา AD ขั้นสุดท้ายสูงหรือต่ำกว่า AD ขั้นต้นที่เรียกเก็บไว้ จะมีการคืนเงินหรือเรียกเก็บส่วนต่างเพิ่ม ---- อากร AD ขั้นต้นที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากแหล่งนำเข้าต่างๆ ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย (ราว 70% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562) จะส่งผลให้การส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ไม่สดใสเหมือนเช่นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ให้แก่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจาก ผู้ส่งออกรายใหญ่ในเวียดนามหลายรายถูกเก็บ AD ในอัตราต่ำกว่าไทยมาก อาทิ Sailun และ Kumho ถูกเก็บ AD ในอัตรา 0% ซึ่งแม้รวมกับอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนามในอัตรา 23-10.08% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แล้ว ก็ยังต่ำกว่าที่ผู้ส่งออกในไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 13.25-22.21% อยู่มาก ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมี 9 บริษัทที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD และ CVD ในอัตรารวมต่ำกว่าที่ไทยถูกเก็บ AD ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ 9 บริษัทดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตในเวียดนามมากขึ้น (บางบริษัทที่มีฐานการผลิตทั้งในไทยและเวียดนามอาจใช้วิธีลดกำลังการผลิตในไทยและเพิ่มการผลิตในเวียดนามแทน) ขณะที่การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตยางล้อรายใหม่ในเวียดนามอาจดูท่าทีเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บ AD รวม CVD ในอัตราสูงถึง 28.94% อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในเวียดนาม ทั้งจากการเป็นผู้ผลิตยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อ อันดับ 3 ของโลกการมี FTA กับประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบในการขยายตลาดในวงกว้างนอกเหนือไปจากตลาดสหรัฐฯ อาทิ EU ประกอบกับตลาดยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจเวียดนามที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลเวียดนามยังให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการลงทุนยางล้อในเวียดนามเพิ่มในระยะต่อจากนี้ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูง ราคานำเข้ายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD สูงกว่าราคายางล้อจากคู่แข่ง ทั้งแคนาดา อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จึงอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการแข่งด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม แต่ในระยะสั้นคาดว่าไทยจะยังคงรักษาตำแหน่งแหล่งนำเข้ายางล้ออันดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเกาหลีใต้ (มีส่วนแบ่งตลาดยางล้อที่ถูกเก็บ ADในรอบนี้เป็นอันดับ 2 รองจากไทยด้วยสัดส่วน 12%) ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทย เช่นเดียวกับไต้หวันที่ถูกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทยมาก ขณะที่เวียดนามยังมีส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในตลาดสหรัฐฯ เพียง 5% น้อยกว่าไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 20% ประกอบกับราคานำเข้ายางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนถึง 51% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ) เมื่อรวมกับอัตรา AD แล้วยังต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และไต้หวัน ขณะที่ยางล้อไทยแม้มีราคาสูงกว่ายางล้อของอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ส่วนต่างราคายังอยู่ในระดับที่ไทยพอจะแข่งขันได้ สำหรับการประกาศผล AD ขั้นสุดท้ายกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2564 หากผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย ทำให้ไทยถูกเรียกเก็บ ADในอัตราแย่กว่าเดิมเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็จะเปิดโอกาสให้หลายประเทศ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า  แต่หากไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่ดีกว่าอัตราขั้นต้น ก็จะช่วยประคับประคองให้ไทยมีโอกาสรักษาส่วนแบ่งตลาดยางล้ออันดับ 1 ในสหรัฐฯ ไว้ได้ แต่ในระยะยาวการแข่งขันมีแนวโน้มทวีความรุนแรง เนื่องจากคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ต่างสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ส่งออกยางล้อของไทยจะรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้ามากกว่าการมุ่งเน้นแข่งขันด้านราคา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจนำมาสู่การถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่สูงขึ้นอีกในอนาคต

29.01.2021

ประเด็นสำคัญ ปี 2562 เป็นปีแห่งการประท้วงทั่วโลก หลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก การประท้วงที่เกิดขึ้นครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา นับเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลก โดยชนวนการประท้วงในหลายประเทศส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน และการต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วงจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ โดยมีบางประเทศที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และฝรั่งเศส การประท้วงส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของธุรกิจส่งออกในบางประเทศ ปี 2562 ที่กำลังจะผ่านไปถือเป็นปีที่โลกตกอยู่ในความวุ่นวายหลังจากประชาชนในหลายประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเด็นที่แตกต่างกันไป นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคล้ายคลึงกับการเกิดการปฏิวัติอาหรับ หรือ Arab Spring ในภูมิภาคตะวันออกกลางช่วงปี 2553-2554 แต่คลื่นการประท้วงรอบนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างกว่า ครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ถือเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลกและเป็นความเสี่ยงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง   ปักหมุดพื้นที่ประท้วงทั่วโลก   สาเหตุของการประท้วงในหลายประเทศ แม้ว่าสาเหตุและเป้าหมายที่ประชาชนในแต่ละประเทศออกมาชุมนุมประท้วงจะแตกต่างกัน แต่ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็น ดังนี้ ปัญหาเศรษฐกิจ การชุมนุมประท้วงในหลายประเทศเริ่มขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ค่าครองชีพในประเทศปรับสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถไฟใต้ดินในชิลี การเก็บภาษีคนใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ในเลบานอน และการปรับขึ้นราคาน้ำมันในอิหร่านและเอกวาดอร์ รวมถึงการประท้วงเพื่อร้องเรียนปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำในโคลอมเบียและโบลิเวีย ซึ่งการชุมนุมในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามจนจุดติดเป็นประเด็นเรียกร้องทางการเมืองที่ยากจะควบคุม ปัญหาทางการเมือง/ปัญหาคอร์รัปชัน ในหลายประเทศมีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออกจากตำแหน่ง เช่น กรณีการสืบทอดอำนาจเป็นเวลานานถึง 20 ปีของประธานาธิบดีในแอลจีเรีย กรณีการทุจริตและคอร์รัปชันของภาครัฐในสาธารณรัฐเช็กและอิรัก ซึ่งการประท้วงในประเทศเหล่านี้ได้ลุกลามบานปลายจนเป็นเหตุรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การต่อต้านกฎหมาย/การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง ซึ่งลุกลามและทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและกดดันให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง การประท้วงต่อต้านกฎหมายปราบปรามทุจริตในอินโดนีเซีย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการลดอำนาจของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของอินโดนีเซีย การประท้วงต่อต้านแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญในฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นอัมพาตอยู่ในขณะนี้ และล่าสุดการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ในอินเดีย ที่ยอมให้สัญชาติอินเดียแก่ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ ปากีสถาน บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้เฉพาะผู้อพยพที่นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ พุทธ เชน ปาร์ซี และคริสต์เท่านั้น โดยยกเว้นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรมกับชาวมุสลิมในอินเดีย รวมถึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่มาจาก 3 ประเทศดังกล่าว จึงเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล   ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่เกิดการประท้วง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงไปจนถึงการขยายวงกว้างและความรุนแรงของการประท้วงเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการประท้วงในหลายประเทศยังอยู่ในวงจำกัดและยังไม่มีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการประท้วงอาจบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว ได้แก่ การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายในประเทศ การค้า การลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฮ่องกง ทำให้ล่าสุดเศรษฐกิจฮ่องกงได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่หดตัว 2% นับเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส หลังจากไตรมาส 2 หดตัว 0.5% ขณะที่ทางการฮ่องกงคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2562 จะหดตัว 1.3% การประท้วงในอินเดีย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะรุนแรงและขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ต้องติดตามดูว่าการประท้วงจะยืดเยื้อและบั่นทอนเศรษฐกิจอินเดียมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียชะลอความร้อนแรงลงมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับปี 2559 ที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงกว่า 8% แต่ล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2562 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเพียง 6% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี และเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ลดลงไปจนถึงการชะลอตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หากการประท้วงยืดเยื้อก็จะยิ่งบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในระยะข้างหน้า การประท้วงในฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเผชิญการประท้วงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลืองที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งในเวลานั้นการประท้วงได้ส่งผลกระทบราว 1% ของ GDP ฝรั่งเศสไตรมาส 4 ปี 2561 ล่าสุดสหภาพแรงงานหลายแห่งมีการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในรอบหลายปี ส่งผลให้ระบบขนส่งมวลชนในประเทศหยุดให้บริการเกือบทั้งหมดในบางพื้นที่ ส่งผลกระทบในด้านลบต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะะธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม นับเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศส ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีของฮ่องกงที่การประท้วงยืดเยื้อ แม้การส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวราว 6% แต่การหดตัวดังกล่าวเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปฮ่องกงราว 60% จะส่งต่อไปยังตลาดจีน อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินธุรกิจส่งออก การชุมนุมประท้วงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เนื่องจากการประท้วงในบางประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น กรณีของเลบานอน ซึ่งการประท้วงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหยุดทำการ ทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปเลบานอนในช่วงเวลานั้นต้องประสบปัญหาการจ่ายเงินล่าช้า รวมถึงกรณีของฝรั่งเศสที่การประท้วงทำให้การคมนาคมในประเทศต้องหยุดชะงักลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

27.12.2019

ประเด็นสำคัญ สมเด็จฯ ฮุน เซน จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ตามคาดหมาย หลังพรรค CPP ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และ EU ว่าจะมีการดำเนินมาตรการใดต่อกัมพูชาหรือไม่ โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจยังคงความเห็นเดิมว่ากัมพูชาไม่น่าจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี คาดว่ารัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุน เซน จะดำเนินนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียงไว้ ทั้งปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานและลดค่าไฟฟ้า รวมทั้งสานต่อนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความแน่นอนมากขึ้นจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา แต่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างจะกระทบต่อผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่ขยายฐานการผลิตไปกัมพูชา พรรค Cambodian People's Party (CPP) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 โดยคาดว่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 100 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง เนื่องจากไร้คู่แข่งสำคัญ คือ พรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ซึ่งถูกสั่งยุบพรรคไปเมื่อปลายปี 2560 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยชัยชนะของพรรค CPP จะทำให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย นับเป็นผู้นำที่ปกครองประเทศยาวนานกว่า 30 ปี   จับตาท่าทีสหรัฐฯ และ EU หลังการเลือกตั้งกัมพูชา สหรัฐฯ และ EU ต่างออกมาประณามการเลือกตั้งดังกล่าวว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และ EU ว่าจะมีการดำเนินมาตรการใดต่อกัมพูชาหรือไม่ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยธุรกิจยังคงความเห็นเดิมจากที่เคยได้วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ว่ากัมพูชาไม่น่าจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ และ EU เนื่องจากสถานการณ์ในกัมพูชายังไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศที่เคยถูกสหรัฐฯ และ EU คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและตัดความสัมพันธ์ทางการค้า แต่อาจถูกระงับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐฯ ในบางโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกัมพูชาไม่มากนัก แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายสุด (โอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย) ซึ่งกัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ และ EU จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก 3 กลุ่มสำคัญ คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และข้าว ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 77% ของมูลค่าส่งออกรวมของกัมพูชา   ส่องทิศทางนโยบายสำคัญของรัฐบาลกัมพูชา คาดว่ารัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุน เซน จะเร่งดำเนินนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียงไว้ รวมทั้งยังคงดำเนินโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และรองเท้า จาก 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปัจจุบัน เป็น 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ภายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 47% เพื่อเสริมสร้างสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกัมพูชา รวมทั้งช่วยลดต้นทุน ของภาคธุรกิจ เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าของกัมพูชาถือว่าอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนในกรุงพนมเปญอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (เทียบกับไทยที่ 0.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนดังกล่าว สานต่อนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมากัมพูชาจัดว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก อาทิ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ในเกือบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้ 50 ปี และสามารถขอต่ออายุได้อีกสูงสุด 50 ปี ล่าสุดในช่วงปี 2559 - 2561 รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศผู้ลงทุนหลักหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย และไทย และอยู่ระหว่างการเจรจากับอีกหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย และเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนในกัมพูชาให้มากยิ่งขึ้น เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับมหามิตร อย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญที่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองชาติขยายการลงทุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชาต่อไป ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกัมพูชาและเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินรายสำคัญของกัมพูชา ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ให้ ODA* แก่กัมพูชามากเป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 20% ของ ODA ที่กัมพูชาได้รับ) รองจาก EU ขณะเดียวกัน สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังประกาศให้คำมั่นที่จะรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรระหว่างกัน ท่ามกลางท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของสหรัฐฯ และ EU ที่ไม่พอใจที่กัมพูชามีการยุบพรรคการเมืองคู่แข่งสำคัญของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้สหรัฐฯ และ EU มีข้อกังขาถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งในครั้งนี้ รวมทั้งยังตัดเงินช่วยเหลือการจัดการเลือกตั้งที่เคยให้แก่กัมพูชา   ผลกระทบต่อไทย การเมืองกัมพูชาที่มีความชัดเจนขึ้นส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ขณะที่นโยบายรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนน่าจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ปัจจุบันเป็นช่องทางการค้าสำคัญมีสัดส่วนกว่า 60% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการทั้งสองประเทศมักมีความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทปราสาทพระวิหารที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในปี 2566 จากปัจจุบัน 170 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือปรับขึ้นราว 8% ต่อปี คาดว่าจะสร้างภาระต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ขยายฐานการผลิตในกัมพูชาจำเป็นต้องเตรียมรับมือและบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไม่มากนักอย่าง โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า Note : * ODA = Official Development Assistance หรือความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกัมพูชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาภายใต้ ODA ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ODA มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของแหล่งเงินทุนสำหรับงบประมาณรายจ่ายภาครัฐของกัมพูชาในปี 2558  

23.12.2019

สถานการณ์สำคัญยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียเดือนสิงหาคม 2562 ลดลง 33% (y-o-y) เหลือราว 2.5 แสนคัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมียอดจำหน่ายลดลง 32% (y-o-y) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลง 39% (y-o-y) นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 จนกระทบผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในอินเดีย อาทิ Tata Motor ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตรถยนต์ 4 แห่ง Mahindra & Mahindra ประกาศให้โรงงานทุกแห่งหยุดผลิตเป็นเวลา 5-13 วันต่อเดือนในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2562 Honda Car India หยุดผลิตรถยนต์บางรุ่นในโรงงานที่ตั้งอยู่ในรัฐราชสถาน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอินเดียเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 350,000 ตำแหน่ง และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะลดจำนวนพนักงานลงอีก หากตลาดรถยนต์อินเดียยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น  ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินสาเหตุที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียลดลงและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย สรุปได้ดังนี้1) อินเดียเตรียมใช้มาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์ในรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถสามล้อจาก Bharat Stage IV (BS4) เป็น Bharat Stage VI (BS6) ซึ่งจะบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ส่งผลให้รถยนต์มาตรฐานเดิม (BS4) ถูกห้ามจำหน่ายและจดทะเบียน มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียชะลอการผลิตรถยนต์ เพื่อเร่งระบายรถยนต์รุ่นเก่า (BS4) ในสต็อก ขณะที่ผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์ก็เลื่อนเวลาออกไป เพื่อรอซื้อรถยนต์ใหม่ที่ผ่านมาตรฐาน BS62) สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจอินเดียที่ชะลอการขยายตัว จะกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ ล่าสุด EIU ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ไว้ที่ 5% ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ขยายตัว 7.9% ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ปัจจัยบั่นทอนดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ชาวอินเดียที่กำลังจะซื้อรถยนต์ใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น มีการประมาณการกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 การเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารส่งผลให้จำนวนผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อลดลงถึง 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบการส่งออกในหมวดยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวไปอินเดียเพียง 2% ของมูลค่าส่งออกยานพาหนะฯ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การส่งออกยานพาหนะฯ ไปอินเดียที่ลดลงกว่า 10% (y-o-y) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา อาจซ้ำเติมสถานการณ์ส่งออกยานยนต์ไทยที่ค่อนข้างซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบันให้แย่ลงกว่าเดิม โดยผู้ส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ คือ ผู้ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ (รวมเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบมีลูกสูบ) ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 83% ของมูลค่าส่งออกยานพาหนะฯ ทั้งหมดของไทยไปอินเดีย สำหรับในระยะยาว คาดว่าตลาดรถยนต์อินเดียมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว เพราะคาดว่าหลังผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียปรับสายการผลิตและเริ่มผลิตรถยนต์มาตรฐาน BS6 ออกสู่ตลาดแล้ว จะจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเร่งให้ผู้ใช้รถยนต์ตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ และส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของอินเดียกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดีย เนื่องจากหากเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคอินเดียให้ซบเซาลง และส่งผลต่อเนื่องมาถึงการส่งออกยานพาหนะฯ ของไทยไปอินเดียได้ เกร็ดน่ารู้- อินเดียเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก มียอดผลิตราว 5.2 ล้านคัน ในปี 2561- อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการครอบครองรถยนต์ต่ำที่สุดในโลกเพียง 22 คันต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศที่มีประชากรอันดับ 2 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพตลาดรถยนต์อินเดียที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อีก- ตลาดรถยนต์อินเดียราว 59% เป็นของบริษัทญี่ปุ่น อาทิ Maruti Suzuki (50%) Honda Car India (5%) และ Toyota Kirloskar (4%)- อินเดียนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยสูงเป็นอันดับ 5 (ราว 7% ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดของอินเดีย) ชิ้นส่วนฯ นำเข้าสำคัญ อาทิ ระบบเกียร์  

06.10.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products