Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน
- 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ คือขุมพลังที่จะผลักดันมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2564
- ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่มไป 9 ตลาดส่งออกสำคัญ ดังนี้
- สินค้าอาหาร ได้รับผลดีจาก COVID-19 และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564
- วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน
- สินค้าขั้นปลาย สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ยังไม่ฟื้นตัว สินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal จะขยายตัวต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ปัจจุบันเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน โดยความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ
ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งหรือมีงบประมาณเพียงพอในการจัดหาวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้ก่อน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีงบประมาณจำกัดยังต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรส่วนใหญ่ในการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าต่อไปจึงอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องได้ในปีนี้ แม้อัตราการกระจายของวัคซีนต่อประชากรยังไม่มากนัก อาทิ เวียดนาม
กลยุทธ์ของผู้ส่งออกไทย...เน้นทำตลาดในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจน
การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว ขณะที่การจะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งก็ยังมีต้นทุนเพิ่ม ทั้งด้านแรงงานที่ต้องรับและฝึกสอนใหม่จากที่เลิกจ้างไปเพื่อลดต้นทุน เงินทุนหมุนเวียนที่มีจำกัดเนื่องจากต้องใช้จ่ายในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาดำเนินตามปกติ ประกอบกับเงินทุนบางส่วนยังจมอยู่กับสินค้าคงคลัง ดังนั้น การคัดเลือกตลาดที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ก่อนจึงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการอาจเลือกใช้ในช่วงปี 2564 เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออก
ในบรรดาตลาดส่งออกหลักของไทย 25 อันดับแรก มี 9 ประเทศ/ดินแดน ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตดีในปี 2564 [IMF ระบุในรายงาน World Economic Outlook ฉบับล่าสุด (April 2021) ว่าเศรษฐกิจในปี 2564 จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปี 2563 หรือเศรษฐกิจปี 2564 จะฟื้นตัวจาก COVID-19 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ] ได้แก่ จีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 50% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2563 โดยการส่งออกของไทยไปประเทศกลุ่มนี้ขยายตัว 4.1% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 1.2% ในช่วงเดียวกัน จึงนับว่าตลาดเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่หนุนให้การส่งออกโดยรวมของไทยฟื้นตัวขึ้นในปี 2564
ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้ารายกลุ่ม
ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้ารายกลุ่ม โดยพิจารณาจากสินค้าส่งออก 50 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยัง 9 ประเทศ/ดินแดนที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีข้างต้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สินค้าอาหาร 2) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง 3) สินค้าสำเร็จรูป พบแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้
- สินค้าอาหารเป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 ในช่วงก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2564 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้รับผลดีจากการที่ครัวเรือนกักตุนอาหารกระป๋องในช่วง Lockdown และเมื่อตลาดคลาย Lockdown และเริ่มฟื้นตัวก็ได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อของกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารที่กลับมาเปิดดำเนินการ ขณะที่ตลาดเอเชีย (จีน ไต้หวัน และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากพอที่จะซื้อผลไม้สดนำเข้าที่ราคาค่อนข้างสูงได้
- วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยการส่งออกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เคยหดตัวในปี 2563 ทั้งจากการ Lockdown จนกระทบ Supply Chain การผลิต และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใส จะทยอยกลับมาขยายตัวในระดับค่อนข้างดีในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้กิจกรรมในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น
- สินค้าขั้นปลายมีแนวโน้มแตกต่างกัน ตามกลุ่มสินค้าย่อย โดยสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์อย่างเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนอัญมณีและเครื่องประดับ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เพราะแม้เศรษฐกิจของตลาดนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคยังกลับมาไม่เต็มที่ จึงเลื่อนการซื้อสินค้าไม่จำเป็นและมีราคาแพงออกไปก่อน และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มนี้จะกลับมา ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงอาจใช้กลยุทธ์ Wait and See เพื่อรอสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนสินค้าที่สอดคล้องกับ New Normal อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องคอมพิวเตอร์) และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจาก COVID-19 และการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่ง ขณะที่สินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ อาทิ รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า การส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวสู่ระดับปกติ โดยสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงอย่างรุนแรงในปี 2563 มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวได้สูง เนื่องจากมีความต้องการตกค้างจากปีที่แล้วอยู่มาก
นอกจากการคัดเลือกตลาดที่ใช่ เช่น ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแล้ว ผู้ส่งออกยังควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออก อาทิ การทำประกันการรับชำระเงินค่าสินค้า และการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อให้เดินหน้าลุยตลาดได้อย่างมั่นใจ
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง