Hot Issues

ประเมินผลกระทบหลังสหรัฐฯ เรียกเก็บ AD ยางล้อจากไทย และแหล่งนำเข้าอื่น

สถานการณ์สำคัญ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ขั้นต้นเป็นการชั่วคราวสำหรับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) จากไทยในอัตรา 13.25-22.21% และจากอีก 3 แหล่งนำเข้า ได้แก่ เวียดนาม ในอัตรา 0-22.27% เกาหลีใต้ 14.24-38.07% และไต้หวัน 52.42-98.44% ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้ายสำหรับสินค้าดังกล่าวภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

การส่งออกยางล้อของไทย

  • ยางล้อเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด (สัดส่วน 44%) ในหมวดผลิตภัณฑ์ยางส่งออกของไทยไปตลาดโลก
  • สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 50% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทย
  • มูลค่าส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี (ปี 2558-2563)

หมายเหตุ : โดยปกติแล้วการไต่สวน AD ของสหรัฐฯ ในครั้งแรกของแต่ละสินค้าจะมีการประกาศผล AD ขั้นต้น และเรียกเก็บ AD ในอัตราดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศผล AD ขั้นสุดท้าย จึงจะใช้อัตรา AD ที่ประกาศในขั้นสุดท้ายเป็นอัตราที่เรียกเก็บจริง หากอัตรา AD ขั้นสุดท้ายสูงหรือต่ำกว่า AD ขั้นต้นที่เรียกเก็บไว้ จะมีการคืนเงินหรือเรียกเก็บส่วนต่างเพิ่ม

----

อากร AD ขั้นต้นที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากแหล่งนำเข้าต่าง


ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย (ราว 70% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562) จะส่งผลให้การส่งออกยางล้อจากไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ไม่สดใสเหมือนเช่นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ให้แก่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจาก

  • ผู้ส่งออกรายใหญ่ในเวียดนามหลายรายถูกเก็บ AD ในอัตราต่ำกว่าไทยมาก อาทิ Sailun และ Kumho ถูกเก็บ AD ในอัตรา 0% ซึ่งแม้รวมกับอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนามในอัตรา 23-10.08% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แล้ว ก็ยังต่ำกว่าที่ผู้ส่งออกในไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 13.25-22.21% อยู่มาก ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมี 9 บริษัทที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD และ CVD ในอัตรารวมต่ำกว่าที่ไทยถูกเก็บ AD
    ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ 9 บริษัทดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตในเวียดนามมากขึ้น (บางบริษัทที่มีฐานการผลิตทั้งในไทยและเวียดนามอาจใช้วิธีลดกำลังการผลิตในไทยและเพิ่มการผลิตในเวียดนามแทน) ขณะที่การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตยางล้อรายใหม่ในเวียดนามอาจดูท่าทีเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บ AD รวม CVD ในอัตราสูงถึง 28.94% อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในเวียดนาม ทั้งจากการเป็นผู้ผลิตยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อ อันดับ 3 ของโลกการมี FTA กับประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบในการขยายตลาดในวงกว้างนอกเหนือไปจากตลาดสหรัฐฯ อาทิ EU ประกอบกับตลาดยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจเวียดนามที่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลเวียดนามยังให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการลงทุนยางล้อในเวียดนามเพิ่มในระยะต่อจากนี้ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูง

  • ราคานำเข้ายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD สูงกว่าราคายางล้อจากคู่แข่ง ทั้งแคนาดา อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จึงอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการแข่งด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม แต่ในระยะสั้นคาดว่าไทยจะยังคงรักษาตำแหน่งแหล่งนำเข้ายางล้ออันดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเกาหลีใต้ (มีส่วนแบ่งตลาดยางล้อที่ถูกเก็บ ADในรอบนี้เป็นอันดับ 2 รองจากไทยด้วยสัดส่วน 12%) ถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทย เช่นเดียวกับไต้หวันที่ถูกเก็บ AD ในอัตราสูงกว่าไทยมาก ขณะที่เวียดนามยังมีส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในตลาดสหรัฐฯ เพียง 5% น้อยกว่าไทยซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 20% ประกอบกับราคานำเข้ายางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนถึง 51% ของมูลค่าส่งออกยางล้อทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ) เมื่อรวมกับอัตรา AD แล้วยังต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และไต้หวัน ขณะที่ยางล้อไทยแม้มีราคาสูงกว่ายางล้อของอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ส่วนต่างราคายังอยู่ในระดับที่ไทยพอจะแข่งขันได้

สำหรับการประกาศผล AD ขั้นสุดท้ายกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2564 หากผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย ทำให้ไทยถูกเรียกเก็บ ADในอัตราแย่กว่าเดิมเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็จะเปิดโอกาสให้หลายประเทศ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า  แต่หากไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่ดีกว่าอัตราขั้นต้น ก็จะช่วยประคับประคองให้ไทยมีโอกาสรักษาส่วนแบ่งตลาดยางล้ออันดับ 1 ในสหรัฐฯ ไว้ได้ แต่ในระยะยาวการแข่งขันมีแนวโน้มทวีความรุนแรง เนื่องจากคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสำคัญของโลก ต่างสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น การที่ผู้ส่งออกยางล้อของไทยจะรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้ามากกว่าการมุ่งเน้นแข่งขันด้านราคา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจนำมาสู่การถูกเรียกเก็บ AD ในอัตราที่สูงขึ้นอีกในอนาคต

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products